xs
xsm
sm
md
lg

เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ลุยสร้างโรงไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้อุตฯ โรงแรกของไทย พร้อมเดินเครื่องผลิตกลางปี 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ได้ฤกษ์ 20 ก.ค.58 ก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงวัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ โรงแรกของไทย ที่ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อย “เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์” ในนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี เผยเป็นโรงไฟฟ้าใช้วัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วโรงแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในระบบ FiT คาดใช้เวลาก่อสร้าง 14-16 เดือน พร้อมเดินเครื่องผลิตทันกลางปี 59 ตามเป้า

นายสุวัฒน์ เหลืองวิริยะ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG ผู้ประกอบธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจรรายเดียวในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 นี้ บริษัทฯ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และเริ่มการก่อสร้างโครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขนาด 9.4 เมกะวัตต์ จากวัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย มูลค่าโครงการ 1,150 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด บริษัทย่อยในนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

สำหรับโครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขนาด 9.4 เมกะวัตต์ จากวัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายของบริษัทฯ ซึ่งดำเนินกิจการผ่านบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด บริษัทย่อย เกิดขึ้นจากมติคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2558 ในวันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อต่อยอดธุรกิจจัดการกากอุตสาหกรรมให้ครบวงจรยิ่งขึ้น โดยนำวัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างรายได้เป็นกระแสเงินสดไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กลุ่มบริษัทฯ อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน ยังสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายจัดการวัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วให้เป็นระบบ โดยบรรจุไว้เป็นวาระแห่งชาติ และประการสำคัญยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในประเทศด้วย

ดังนั้น จึงส่งผลให้โครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เป็นเวลา 8 ปี และขายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในระบบให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff) หรือ FiT อัตราค่าไฟ 6.78 บาท/หน่วย ใน 8 ปีแรก และอยู่ที่ระดับ 6.08 บาท/หน่วย ใน 12 ปีถัดไป ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากวัสดุอุตสาหกรรมไม่ใช้แล้วรายแรกของไทยที่มีโครงการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟภ.ในระบบดังกล่าว และยังเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐในระบบ FiT ในการนำเอาสิ่งเหลือใช้จากอุตสาหกรรมมาแปรรูปใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า

“โครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ตามกำหนดจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 14-16 เดือน และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟประมาณกลางปี 2559 ตามเป้าหมายเดิมที่ได้วางไว้ ซึ่งบริษัทฯ จะรับรู้รายได้ทันทีในปีเดียวกัน” นายสุวัฒน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น