“หอการค้าไทย” เผยผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการส่งออกที่ยังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ ปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และยางพาราที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 63.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 69.4 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับร้อยละ 90.0 ตามลำดับ ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ในระดับ 65.0, 70.3 และ 91.4 ตามลำดับ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่า ผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของดัชนีดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับลดลง โดยอยู่ที่ระดับ 74.4 ในเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน การส่งออกที่ยังหดตัว ปัญหาภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งระดับรายได้ในอนาคตนั้นยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวมของประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2558
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 55.9 ในเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เป็นต้นมา แสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวมากนัก รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลง จากระดับ 82.8 ในเดือนพฤษภาคม เป็นระดับ 81.5 ในเดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 12 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 เป็นต้นมา แสดงว่าเริ่มมีความวิตกกังวลเล็กน้อยต่อสถานการณ์ในอนาคตถึงภาวะเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ รวมทั้งรายได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่า การบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งระดับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และยางพารายังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในช่วงที่การส่งออกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนอยู่ อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า การบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะหากรัฐบาลพยายามเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การบริโภคน่าจะฟื้นตัวเด่นขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4