เอ็มดีไทยพาณิชย์ออกหนังสือขอโทษกรณีความบกพร่องกรณีประกาศรับสมัครงาน พร้อมให้ยกเลิก-นำออกจากทุกสื่อ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยในกรณีดังกล่าวแล้ว ส่วนประเด็นเอกสารที่เผยแพร่ให้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ระบุเกณฑ์รับพนักงานแบ่งมหาวิทยาลัยเป็น 3 กลุ่ม ไม่ใช่เอกสารของธนาคาร
จากกรณีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ทำการลงประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์จัดหางานในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด (Financial Advisor Trainee) ซึ่งเป็นตำแหน่งงานเฉพาะทาง และมีการระบุชื่อมหาวิทยาลัยจำนวน 14 แห่งนั้น นายญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ขออภัยในความบกพร่องที่เกิดขึ้น และได้มีคำสั่งให้ยกเลิกและนำประกาศฯ นั้นออกจากทุกสื่อโดยทันที ทั้งนี้ ธนาคารฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว พร้อมทั้งได้กำชับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ดูแลและป้องกันมิให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเอกสารที่ระบุเกณฑ์การรับพนักงานใหม่ที่ได้มีการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 3 กลุ่ม ที่ได้มีการเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ในขณะนี้นั้น ทางธนาคารฯ ขอยืนยันและปฏิเสธว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารของธนาคารฯ แต่อย่างใด
ปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์มีพนักงานทั้งสิ้นจำนวนกว่า 22,000 คน เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จากข้อมูลสถิติตั้งแต่ปี 2557 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2558 ธนาคารฯ ได้รับพนักงานใหม่ทั้งสิ้นจำนวน 4,348 คน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษา อันเป็นการยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ธนาคารฯ ให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของบัณฑิตจากทุกสถาบันโดยไม่มีการแบ่งแยกแต่อย่างใด
สำหรับนโยบายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น ธนาคารฯ ยังคงมุ่งมั่นในการเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกสถาบันการศึกษาได้เข้าทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงการสนับสนุนผ่านโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการรับนักศึกษาฝึกงาน โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ เข้าฝึกฝน และเรียนรู้ระบบการทำงานจริงกับทางธนาคารฯ เป็นประจำทุกปีๆ ละหลายร้อยคน โครงการ SCB Career Roadshow กิจกรรมเดินสายประชาสัมพันธ์เพื่อแนะนำรับสมัครนักศึกษาจบใหม่เป็นประจำทุกภาคการศึกษาไปยังสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ โดยในปี 2557 มีการเดินสายทั้งสิ้นรวม 24 ครั้ง และปี 2558 มีแผนที่จะจัดเดินสายไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเข้าร่วม Job Fair ต่างๆ และการร่วมวางแผนหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาการเงินการธนาคาร เป็นต้น ทั้งนี้ ยังรวมถึงความร่วมมือทางวิชาการ และด้านอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคตอันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป