xs
xsm
sm
md
lg

เผยจัดเก็บรายได้รัฐ 8 เดือนแรกปีงบ 58 ต่ำกว่าเป้า 4% รายได้ภาษีสำคัญปรับลดลงทุกตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” เผยจัดเก็บรายได้รัฐ 8 เดือนแรกปีงบ 58 ต่ำกว่าเป้า 4% เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากรายได้ภาษีที่สำคัญปรับลดลงทุกตัว

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-พ.ค.58) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 1,370,803 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 56,523 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.1)

โดยการจัดเก็บภาษีที่ส่งผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับผู้ประกอบการได้ยื่นชำระภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่คาดไว้ (ซึ่งขยายเวลาการชำระภาษีได้อีก 8 วัน) ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นสำคัญ และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้รับผลกระทบจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว

นอกจากนี้ การจัดเก็บอากรขาเข้ายังได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ

“เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลงอย่างมากได้ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรก ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ดำเนินการบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้เพื่อให้ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด โดยอยู่บนพื้นฐานที่จะไม่กระทบต่อประชาชน และภาคธุรกิจ” นายกฤษฎา กล่าว

สำหรับเฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 224,835 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 74,660 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.9 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.3) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลัง จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 72,033 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.5 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 26,897 และ 26,884 และ 9,675 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.1 และ 46.3 และ 14.6 ตามลำดับ

โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผู้ประกอบการเปลี่ยนยื่นชำระภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ตมากกว่าที่คาดไว้ (ซึ่งขยายเวลาการชำระภาษีได้อีก 8 วัน)

ส่วนภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 12,565 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.4 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 83.6) เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นำส่งรายได้ไปแล้วในเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าประมาณการ 6,921 ล้านบาท หรือร้อยละ 127.8 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซล ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 4,096 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.8 เนื่องจากมีการนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล งวดที่ 2 จำนวน 7,854 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น