xs
xsm
sm
md
lg

TICON ลดเป้ารายได้ปีนี้เหลือแค่ 5% เล็งลงทุน ตปท.รับ AEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICON
ASTVผู้จัดการรายวัน - ไทคอน ลงนามร่วมกับ SSIA ในอินโดฯ และ มิตซุย จากญี่ปุ่น ทุ่มงบ 1,500 ล้านบาท จดทะเบียนตั้งบริษัทฯ SLP รุกธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในประเทศอินโดนีเซีย บนพื้นที่ 140,000 ตารางเมตร คาดรับรู้รายได้เฟสแรกในไตรมาส 3 ตั้งเป้าระยะแรกเน้นลูกค้ากลุ่มไอทีก่อนขยายเป็นอุตฯ ยานยนต์ภายหลัง เผยเป้ารายได้ปีนี้หดตัวจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง

นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICON กล่าวว่า บริษัทปรับเป้าผลประกอบการรายได้ในปีนี้ลงเหลือเพียง 5% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่อย่างน้อย 10% เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศยังคงประสบปัญหาชะลอตัว โดยผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2558 ปรับตัวลดลงหากเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนหน้า เนื่องจากในไตรมาสที่ 1 /2557 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสินทรัพย์เข้าไปในกองทุนจำนวนกว่า 500 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 1 ปีนี้ บริษัทฯ ไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้มีการปรับขึ้นค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มาร์จิ้นปรับตัวลดลงเหลือเพียง 69% อีกทั้งบริษัทหันไปเน้นการทำคลังสินค้าตามแบบที่ลูกค้าต้องการ หรือ Built-to-Suit เพิ่มมากขึ้น 
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีรายได้หลักมาจากการบริหารกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REITs จากข้อมูลกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (property fund) การขายสินทรัพย์เข้ากองทุน และเงินปันผลจากการเข้าไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าที่จะขายสินทรัพย์ในปีนี้ให้ได้อย่างน้อย 4,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้ลงนามร่วมกันกับบริษัท พีที เซอร์ยา ซีเมสตา อินเตอร์นูซ่า ทีบีเค หรือ SSIA ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย และมิตซุย จากญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนในอินโดนีเซีย ภายใต้ชื่อ “PT SLP SURYA TICON INTERNUSA” (SLP) ด้วยทุนจดทะเบียน 46.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท โดย SSIA ถือหุ้นร้อยละ 50 ขณะที่มิตซุย และไทคอน ถือหุ้นร้อยละ 25 ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านการพัฒนาคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าระดับสากลในอินโดนีเซีย มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าหลักจากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์
 
“การที่บริษัทฯ เข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้เนื่องจากมองว่ามีแนวโน้มการเติบโตของ DGP ในประเทศอินโดนีเซียมีอยู่สูงมากถึง 5% ส่วนหนึ่งจากความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งมีโอกาสที่จะขยายตัวด้านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเป็นจำนวนมาก ประกอบกับนโยบายรัฐที่พยายามส่งเสริมพลเมืองให้มีรายได้ และเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศอินโดนีเซียที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศ AEC ซึ่งประเทศญี่ปุ่นพิจารณาการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศกลุ่ม AEC โดยให้น้ำหนักเม็ดเงินลงทุนในประเทศอินโดนีเซียสูงมากถึง 10% มากกว่าประเทศอื่นๆ”
 
ทั้งนี้ การร่วมทุนดังกล่าวภายใต้ชื่อ SLP มีเป้าหมายในการเป็นผู้พัฒนาและบริหารจัดการคลังสินค้าและโรงงานเพื่อให้เช่าในประเทศอินโดนีเซีย โดยโครงการนำร่องในเฟสแรก ครอบคลุมคลังสินค้า 16 ยูนิต ขนาดพื้นที่อาคาร 2,160 ตารางเมตร รวมพื้นที่ให้เช่าทั้งสิ้น 34,560 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และมีผู้เช่าคลังสินค้าแล้วกว่า 81 เปอร์เซ็นต์ โดย SLP วางแผนพัฒนาโครงการ ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้จากโครงการเฟสแรกในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งเมื่อพัฒนาโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ SLP มีพื้นที่คลังสินค้า และโรงงานให้เช่าภายในโครงการเทคโนปาร์ก (Technopark) รวมทั้งสิ้น 146,195 ตารางเมตร โดยในระยะแรกจะเน้นทางด้านอุตสาหกรรมไอที และจะขยายไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต

“การลงทุนครั้งนี้นับเป็นการรุกขยายธุรกิจของไทคอนในประเทศอินโดนีเซียเป็นครั้งแรก โดยร่วมมือกับ SSIA ซึ่งเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของอินโดนีเซีย รวมถึงบริษัทมิตซุย ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการค้า การลงทุน และบริการที่หลากหลาย และครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยบริษัทฯ จะสามารถนำข้อได้เปรียบนี้มาต่อยอด และสร้างความเข้มแข็งให้แก่บริษัทร่วมทุนนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้มาตรฐานระดับสากล”

ขณะที่ นายโจแฮนนาส ซูเรียดาจา ประธานอำนวยการ บริษัท พีที เซอร์ยา ซีเมสตา อินเตอร์นูซา ทีบีเค (SSIA) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่สำคัญ เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการเพิ่มงบประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ได้วางแผนไว้แล้วในปีนี้ ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายประจำปีเพื่อการบำรุงรักษาและยกระดับเครือข่ายลอจิสติกส์ และบริการสาธารณะของประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเห็นค่อนข้างชัดเจนว่าความต้องการคลังสินค้า และโรงงานให้เช่าในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“เนื่องจาก SSIA เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอินโดนีเซีย บริษัทจึงได้เปรียบในด้านความรู้ความเข้าใจในท้องถิ่นเป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านโลเกชันในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม รวมไปถึงบริการที่จะส่งมอบให้แก่ลูกค้าของบริษัท SLP ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ โดย SLP ได้พัฒนาโครงการนำร่องบนที่ดินจำนวน 22 เฮกตาร์ ในโครงการเซอร์ยาซิปตาร์ เทคโนปาร์ก (Suryacipta Technopark) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทางเข้านิคมอุตสาหกรรมเซอร์ยาซิปตาร์ซิตี้ (Suryacipta City of Industry) จังหวัดการาวัง ในชวาตะวันตก กิโลเมตรที่ 55 ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตา” 
 
ทั้งนี้ เทคโนปาร์ก (Technopark) นับเป็นทำเลยุทธศาสตร์ของอินโดนีเซีย เนื่องจากสะดวกต่อการเข้าถึงถนนสายสำคัญซึ่งสามารถเชื่อมต่อจากทางยกระดับไปยังสนามบิน และท่าเรือ รวมถึงสนามบินการาวัง และท่าเรือซิลามายา ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงทางด้านตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย การาวัง ยังเป็นศูนย์กลางการเจริญเติบโตด้านการค้า และบริการที่ดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านค้าปลีก โมเดิร์นเทรด และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งบริษัทมั่นใจว่า ด้วยศักยภาพของทำเลยุทธศาสตร์แห่งนี้จะทำให้โรงงานและคลังสินค้าให้เช่าของ SLP ประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

ด้าน นายเออิชิ ทานาเบ ผู้จัดการทั่วไป แผนกพัฒนาธุรกิจต่างประเทศที่ 2 ฝ่าย Urban Development บริษัท มิตซุย แอนด์ คัมปนี กล่าวเสริมว่า อินโดนีเซียได้กลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนสำหรับบริษัทต่างชาติที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนถึงร้อยละ 9.5 ในปี 2557 โดยอินโดนีเซียจะกลายเป็นฐานการผลิตที่มีความสำคัญในการรองรับความต้องการของตลาดภายในประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีส่วนผลักดันให้การส่งออกเติบโตได้อย่างมีศักยภาพอีกด้วย โดยเฉพาะหลังจากมีการรวมตัวกันของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ภายในสิ้นปีนี้ บริษัทมีความมั่นใจว่า มิตซุย รวมถึงพันธมิตรมืออาชีพของเรา คือ SSIA และไทคอน จะสามารถผลักดันให้ SLP กลายเป็นผู้นำด้านการพัฒนาคลังสินค้า และโรงงานให้เช่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซียในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICON กล่าวเสริมว่า ด้วยจำนวนขนาดเนื้อที่กว่า 1.4 แสนตารางเมตรนี้ อนาคตบริษัทอาจพิจารณาทำธุรกิจพลังงานจากแสงอาทิตย์ แต่จะต้องดูว่าทางรัฐบาลอินโดนีเซียมีการสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าการลงทุนด้านพลังงานเป็นหนึ่งในธุรกิจเสริมที่มีความเสี่ยงน้อย และสร้างรายได้ให้อย่างมั่นคง  

ขณะเดียวกัน การร่วมทุนกันจัดตั้ง SLP ดังกล่าวนี้ บริษัทฯ มองโอกาสที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REITs ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ บริษัทยังมองถึงการเข้าไปลงทุนในประเทศพม่าและประเทศเวียดนาม หลังจากที่โครงการในประเทศอินโดนีเซียแล้วเสร็จภายในปี 2560 เนื่องจากพม่า และเวียดนามมีประชากรที่มีความต้องการในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณตอนเหนือของนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการตั้งนิคมอุตสาหกรรม และระบบขนส่งสินค้า ขณะที่การเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามนั้นอาจต้องรอพิจารณาความเหมาะสมก่อน เนื่องจากที่ดินในประเทศเวียดนามมีราคาแพงมาก 
กำลังโหลดความคิดเห็น