บล.ฟิลลิป คาดกำไรผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง แตะ 49.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% เทียบไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน ชี้แนวโน้มสินเชื่อคาดว่าเติบโตในทิศทางที่ค่อนข้างชะลอตัวลง ส่งผลให้ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงมีอยู่แม้จะชะลอตัวลดลงเทียบกับช่วงที่ผ่านมา แนะลงทุน BBL เพราะจะได้รับอานิสงส์จากโครงการรัฐ และความสามารถในการปล่อยสินเชื่อในวงเงินสูงกว่าธนาคารอื่น
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบการกลุ่มธนาคาร 10 แห่ง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ ในไตรมาสที่ 1/2558 รวมกันมากถึง 49.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 0.8% เทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีที่แล้ว เนื่องจากปกติไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่ค่าใช้จ่ายของกลุ่มธนาคารสูงที่สุด เพราะหลายธนาคารมีการจ่ายโบนัสให้แก่พนักงาน ทำให้ค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าใช้จ่ายการส่งเสริมการขายเพิ่มสูงขึ้นด้วย แต่ถึงแม้จะคาดว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในไตรมาสที่ 1/2558 จะลดต่ำลง แต่คาดว่ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจาก KTB จะมีการจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานในไตรมาสที่ 1/2558 นี้
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษ คือ ค่าชดเชยของ SCB ในกรณีทุจริตของ สจล. ด้วย ขณะที่ในไตรมาสที่ 4/2557 ของ TMB ยังมีการกลับค่าใช้จ่ายภาษีเป็นรายได้ และจะกลับมาจ่ายภาษีในไตรมาส 1 ปีนี้ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำไรสุทธิในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาส 1/2557 คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะลดต่ำลง 1.3% เทียบปีต่อปีจากค่าชดเชยของ SCB และการเพิ่มขึ้นของหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะทำให้กลุ่มธนาคารในไตรมาส 1/2558 มีการตั้งสำรองเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อน
“ในส่วนของสินเชื่อคาดว่ายังเติบโตในทิศทางที่ค่อนข้างชะลอตัวลง แต่การรับโอนสินเชื่อของ BAY ทำให้สินเชื่อของทั้งกลุ่มเติบโต โดยคาดว่ากลุ่มธนาคารจะมีสินเชื่อเติบโตจากสิ้นปี 2557 ประมาณ 2.8% โดยธนาคารที่มีสินเชื่อเติบโตสูงที่สุด คือ BAY เนื่องจากมีการรับโอนสินเชื่อจาก BTMU มาตามแผนการควบรวม และทำให้สินเชื่อของ BAY เพิ่มขึ้นถึง 24.2% หากไม่รวมการรับโอนสินเชื่อดังกล่าว BAY ยังคงมีสินเชื่อเติบโตโดดเด่นอยู่ โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1%”
อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมสินเชื่อที่รับโอนมาจาก BTMU จะทำให้กลุ่มธนาคารมีสินเชื่อเติบโตค่อนข้างชะลอแค่เพียง 0.4% เท่านั้น โดยธนาคารที่มีสินเชื่อหลักเป็นสินเชื่อเช่าซื้อยังคงประสบปัญหาการหดตัวลงของสินเชื่อ ขณะที่ในส่วนของ TISCO จะเป็นธนาคารที่มีสินเชื่อหดตัวมากที่สุดในไตรมาสที่ 1/2558 ที่ 2.7% ส่วน TCAP หดตัวลง 1.5% และ KKP หดตัวลง 1% นอกจากนี้ ยังคาดว่า BBL จะเป็นอีกธนาคารหนึ่งที่มีสินเชื่อหดตัว 0.7% เนื่องจากการชำระคืนสินเชื่อของลูกค้ารายใหญ่ ส่วนธนาคารที่เหลือคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตขึ้นได้
ขณะเดียวกัน จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นำมาซึ่งการตั้งสำรองที่สูงขึ้นในหลายธนาคาร เนื่องจาก NPL ของกลุ่มธนาคารอาจจะเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 1/2558 แต่คาดว่าอัตราการเพิ่มขึ้นน่าจะชะลอลง และการเพิ่มขึ้นของ NPL นี้เองจะทำให้การตั้งสำรองในหลายธนาคารเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ BAY, BBL, KBANK และ SCB จะเป็นธนาคารที่มีการตั้งสำรองเพิ่มสูงขึ้น ส่วนกลุ่มที่ทำสินเชื่อเช่าซื้อ เช่น KKP, TCAP และ TISCO ถึงแม้จะคาดว่า NPL อาจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าธนาคารอื่น แต่การตั้งสำรองจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้การตั้งสำรองใน 1/2558 ลดต่ำลงได้
“ทั้งนี้ มองว่าหุ้นกลุ่มธนาคารยังคงน่าลงทุน เนื่องจากประโยชน์ที่จะได้จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเติบโต โดยธนาคารขนาดใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์มากกว่าธนาคารขนาดเล็ก จากความสามารถในการปล่อยสินเชื่อในวงเงินที่สูงกว่า โดยเฉพาะ BBL (ราคาพื้นฐาน 233 บาท) เป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจสูงสุดของกลุ่ม เนื่องจากมองว่า BBL ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านสินเชื่อรายใหญ่ จะเป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่”