xs
xsm
sm
md
lg

เอื้อวิทยา ดึง “ไทยนคร พาราวู้ด” ลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอื้อวิทยา ต่อยอดธุรกิจเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเต็มตัว จับมือ “ไทยนคร พาราวู้ด” ทุ่มงบ 225 ล้านบาท ใช้ “ออสการ์ เซฟ เดอะเวิลด์” ลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล 9.9 เมกะวัตต์ คาดคืนทุนใน 4 ปี รับรู้รายได้เฟสแรกปี 59 เดินหน้าศึกษาโครงการเฟส 2 ให้ครบ 50 เมกะวัตต์

นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอื้อวิทยา จำกัด (มหาชน) หรือ UWC เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ต่อยอดจากประสบการณ์ธุรกิจด้านเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง เข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มตัว โดยลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการแรกกับบริษัท ไทยนคร พาราวู้ด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปไม้ยางพารารายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ด้วยการร่วมทุนในบริษัท ออสการ์ เซฟ เดอะ เวิลด์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 225 ล้านบาท โดย UWC มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 55 % และ TNP ถือหุ้น 45%

“โครงการแรกที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เป็นโครงการขนาด 9.9 เมกะวัตต์ มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว และการออกแบบโรงงานก็เสร็จสมบูรณ์พร้อมที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในเดือนเมษายนนี้ โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 12 เดือน และจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้านี้ได้ในครึ่งปีหลังของปี 2559 โครงการดังกล่าวจะมีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท/ปี โดยมี EBITDA ประมาณ 58% และผลตอบแทน (IRR) ประมาณ 32% คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลาประมาณ 4 ปี

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในเฟส 2 จากความมั่นคงของปริมาณเชื้อเพลิงจากไม้ยางพารา พื้นที่ของโครงการโลจิสติกส์รวมทั้งจุดเชื่อมต่อไฟฟ้า เพื่อแผนการขยายโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 40 เมกะวัตต์ หากดำเนินการสำเร็จจะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลรวมกับโครงการแรกเป็น 50 เมกะวัตต์ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช” นายวุฒิชัย กล่าว

ในส่วนของบริษัท ไทยนคร พาราวู้ด จำกัด ได้นำความชำนาญในการดำเนินธุรกิจแปรรูปไม้ยางพาราที่มีมาอย่างยาวนาน และศักยภาพในการจัดการไม้ยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจกว่า 20 ปี มาเป็นจุดแข็งในด้านวัตถุดิบ เนื่องจากการแปรรูปไม้ยางพาราจะมีปีกไม้และขี้เลื่อยเป็นวัสดุคงเหลือในปริมาณมาก ทำให้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจากไม้ยางพารานี้มีความมั่นคงทางเชื้อเพลิงอย่างมากในระยะยาว โดยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานีมีสวนยางพารามากกว่า 4.5 ล้านไร่ ปริมาณไม้ยางพาราที่ต้องใช้เข้าสู่โรงงานแปรรูป 1 โรง 4,200 ไร่ต่อปี คิดเป็นเพียง 1.2% ของการตัดสวนยางเฉลี่ยที่มีถึง 350,000 ไร่ต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น