วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ ชูปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญความต้องการยังล้น แถมรัฐยังหนุนการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่ม คาดส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศจะสูงขึ้น พร้อมกับผลปาล์มที่เริ่มส่งสัญญาณกลับสู่สภาวะปกติ หลังหมดช่วงพักตัว แต่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ และราคาสินค้าทดแทนอื่นในตลาดโลกที่ยังทรงตัวในระดับต่ำก็ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายธุรกิจน้ำมันปาล์มของ ไทย ผู้บริหารมั่นใจ VPO พื้นฐานแน่น พร้อมรับสู้ต่อภาวะความผันผวนดังกล่าว ขณะที่บอร์ดไฟเขียวสั่งจ่ายเงินปันผลทันทีหุ้นละ 0.05 บาท กำหนดติดป้าย XD 27 เม.ย. พร้อมรับเงินปันผล 19 พ.ค.58
นายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ ผลพลอยได้ รวมทั้งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากของเสีย หรือสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจน้ำมันปาล์มดิบว่า ขณะนี้ส่งสัญญาณที่ดีขึ้นจากผลผลิตปาล์มที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้นโยบายภาครัฐสนับสนุนโดยกรมธุรกิจพลังงาน ประกาศเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในไบโอดีเซลจากผสม 3.5% เป็น 7% หรือ B7 สนับสนุนให้มีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันปาล์มดิบจะสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับความต้องการใช้ด้วย และรัฐบาลยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถใช้ในการบริโภคในประเทศ และใช้เป็นพลังงานได้
สำหรับทิศทางผลผลิตปาล์มในปีนี้ เริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในเดือนมีนาคม และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน ต่อเนื่องไปถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ และช่วงที่ทยอยออกมามากที่สุดน่าจะเป็นช่วงครึ่งปีหลัง โดยประมาณการผลผลิตปาล์มทั้งปี 2558 จะทยอยออกสู่ตลาดประมาณ 13 ล้านตัน ส่งผลให้ทิศทางราคาผลปาล์มมีแนวโน้มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากผลผลิตปาล์มทั้งปี 2557 ที่ออกสู่ตลาดลดลงอยู่ที่ 11.8 ล้านตัน เนื่องจากเป็นช่วงผลปาล์มพักตัวหลังออกติดกันมาหลายเดือน ประกอบกับสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย จึงเกิดปัญหาการเก็งกำไรในตลาดมาระยะหนึ่ง แต่ความท้าทายของธุรกิจปาล์มน้ำมันก็ยังไม่หมดลง จากภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆ รวมถึงราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ และปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทย กับมาเลเซียยังต่างกันเกือบ 8 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อเกิดความต่างของราคาสินค้าก็ถือเป็นเหตุการณ์ผิดปกติ ที่ยังคงต้องจับตามอง และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์
จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ ต้องติดตามผลผลิตปาล์มทั้งปีว่าจะออกมากน้อยแค่ไหนอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก VPO จะมีกำไรมากที่สุดคือ ช่วงที่ผลผลิตปาล์มทยอยออกสู่ตลาดมากที่สุด และไม่สามารถบอกช่วง High season ของธุรกิจที่ชัดเจนได้ เนื่องจากผลผลิตปาล์มในแต่ละปีออกมาก หรือน้อยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน นั่นหมายความว่า บริษัทที่มีความพร้อมกว่าจะได้เปรียบ ซึ่ง VPO เป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ที่สุดในจังหวัดชุมพร มีกำลังการผลิตรวม 180 ตันปาล์มสดต่อชั่วโมง
“ในปี 2557 ผลปาล์มอยู่ในช่วงพักตัว หลังจากออกผลผลิตเป็นจำนวนมากติดกันมาหลายเดือน และอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคใต้ปี 56 ต่อเนื่อง ปี 57 เจอกับปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตปาล์มต่อไร่ลดลง ส่งผลให้มีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และราคาสูงมากไม่คุ้มในการผลิต บริษัทฯ จึงมุ่งรักษาผลตอบแทนในกำไรที่ดีมากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ ถึงแม้ปี 57 ที่ออกมามีกำไรลดลง แต่ทั้งนี้ สภาวะภูมิอากาศในภาคใต้ปี 57 ต่อเนื่องปี 58 เอื้ออำนวย และมีสัญญาณที่ดีจากผลผลิตปาล์มในเดือนมีนาคมที่ออกมาดีขึ้น แม้ยังไม่มากนัก แต่คาดว่าผลผลิตปาล์มจะค่อยๆ ออกมามากขึ้นในเดือนเมษายนเป็นต้นไป นอกจากนี้ ในปัจจุบันพื้นที่การปลูกปาล์มเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นปาล์มที่มีอยู่อายุ 5-15 ปี ก็มีเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ปลูกปาล์ม และอยู่ในช่วงผลผลิตออกมาเยอะ แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีปัจจัยกดดันจากตลาดโลก ทำให้ทิศทางสำหรับปีนี้ยังค่อนข้างคาดการณ์ได้ยาก แต่ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทำให้เชื่อว่าในปี 2558 นี้ VPO ก็จะมีผลประกอบการที่ไม่น้อยหน้าใครในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้อย่างแน่นอน” นายกฤษดา กล่าว
นายกฤษดา กล่าวเพิ่มว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้จ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท โดยกำหนดวันไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 27 เมษายน 2558 กำหนดจ่าย เงินปันผลวันที่ 19 พฤษาคม 2558 เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกทันทีหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา
สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2557 พบว่า VPO มีอัตรากำไรขั้นต้นปี 2557 เท่ากับ 19.49% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 15.35% และมีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 93.82 ล้านบาท จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 131.01 ล้านบาท โดยสาเหตุที่ VPO มีอัตรากำไรขั้นต้นปี 2557 เท่ากับ 19.49% เนื่องมาจากภาวะที่มะพร้าวขาดตลาดเพราะความเสียหายจากพายุไห่เยี่ยน ที่ฟิลิปปินส์ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 ประกอบกับปริมาณปาล์มที่ลดลง ทำให้ราคาเมล็ดในปาล์มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาขายเฉลี่ยเมล็ดในปาล์มของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น 57.28% ซึ่งสูงกว่าราคาผลปาล์มที่ปรับเพิ่ม ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทฯ ในส่วนของเมล็ดปาล์มเพิ่มขึ้นจาก 1.32% ในปี 2556 เป็น 25.39% ในปี 2557
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้นจาก 199.65 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 256.04 ล้านบาทในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 28.24% เนื่องจากปริมาณผลปาล์มที่เข้าสู่กระบวนการผลิตน้อย ทำให้มีค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรบางส่วนในวันที่ไม่ได้ทำการผลิต ถูกปรับจากต้นทุนขายมาอยู่ในค่าใช้จ่ายบริหาร ซึ่งบันทึกอยู่ในบัญชีค่าใช้จ่ายในการปิดซ่อม ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการปิดซ่อมเพิ่มขึ้น 53.21 ล้านบาท
ส่งผลให้กำไรสุทธิปี 2557 เท่ากับ 93.83 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณปาล์มที่ลดลง อัตราการให้น้ำมันลดลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายหลักของบริษัทฯ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ เช่น ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เงินเดือน และค่าแรง ปริมาณปาล์มที่ลดลง จึงส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ดังกล่าว
***********