xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์วอนรัฐดูแลค่าเงิน ชี้ 33-34 บาทต่อดอลลาร์เหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ไชยยงค์ พงษ์สุทธิมนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
ภาครัฐเร่งผลักดันการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ คาดปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5% มูลค่า 1,260 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลักยังคงเป็นญี่ปุ่น สหรัฐฯ กลุ่มอาเซียน ด้าน ปธ.กลุ่มอุตฯ เฟอร์นิเจอร์ ชี้ตลาด AEC แรงหนุนตลาดออกส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไทย วอนภาครัฐบริหารค่าเงินบาทหลังแข็งค่าเมื่อเทียบคู่แข่ง ชี้อัตราที่เหมาะสม 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ระบุโครงการภาคอสังหาฯ หนุนยอดขายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ โดยเฉพาะคอนโดฯเกาะแนวรถไฟฟ้า

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในปี 2558 ว่า โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคมอยู่ที่ 84.46 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้ 5% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,260 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญคือ ญี่ปุ่น (20%) สหรัฐฯ (18%) กลุ่มอาเซียน (17%) มีตลาดสำคัญ คือ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย กลุ่มสหภาพยุโรป (13%) มีตลาดสำคัญ คือ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ และกลุ่ม BRICS (13%) มีตลาดสำคัญ คือ จีน อินเดีย และบราซิล

สำหรับการจัดงาน TIFF 2015 ถือเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ระดับนานาชาติของไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 19 โดยรวบรวมผู้ประกอบการชั้นนำแบรนด์ดังมาร่วมงานกว่า 200 บริษัท 800 คูหา ที่เป็นเจ้าของโรงงานเองโดยนำเฟอร์นิเจอร์คุณภาพดีที่สุด คอลเลกชันใหม่ล่าสุด และนวัตกรรมใหม่ๆ มาให้เลือกสรรอย่างครบครันทุกประเภททุกสไตล์ โดยจัดขึ้นในแนวคิด ASEAN Smart Living ที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการผลิต และการค้าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของอาเซียน โดยได้ตั้งเป้ามูลค่าการสั่งซื้อสินค้าในงานนี้ที่ 360 ล้านบาท ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ของไทยแบ่งเป็น 5 ประเภท ลำดับตามความสำคัญ และสัดส่วนการส่งออก คือ เฟอร์นิเจอร์ไม้ (36%) ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ (30%) เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ (18%) เฟอร์นิเจอร์โลหะ (10%) และที่นอน หมอน ฟูก (6%)

นายไชยยงค์ พงษ์สุทธิมนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ กล่าวเสริมว่า ตลาดในกลุ่มประเทศ AEC จะเป็นตลาดการส่งออกที่สำคัญที่มีแนวโน้มการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะคำสั่งซื้อของลูกค้าจากประเทศจีน ที่นิยมเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ซึ่งคาดว่าในปี 58 มูลค่าการส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์รวมเติบโต 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมามีมูลค่าส่งออกประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนตลาดกลุ่มประเทศ AEC คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10%

“การจัดงาน TIFF มีส่วนกระตุ้นให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์ของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง สินค้าของไทยมีดีไซน์ และมีความเป็นเอกลักษณ์ของไทย ทำให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้า ขณะที่งานดังกล่าว จะทำให้ไทยได้พันธมิตร และซัปพลายเออร์เข้ามา บางบริษัทได้ซัปพลายเออร์จากประเทศกัมพูชา และลาวเข้ามา” นายไชยยงค์ ระบุ พร้อมกล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า “ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องค่าเงินบาท เนื่องจากขณะนี้เงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า และคู่แข่งแล้วค่อนข้างแข็งค่าจนถึงแข็งค่ามาก อยากให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่เหมาะสมประมาณ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้งตลาดต่างประเทศยังไม่ดี ไม่ตื่นเต้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว หากสินค้ารายการใดราคาดี อาจจะขอผู้ซื้อปรับราคาขึ้นเล็กน้อย ส่วนรายการใดไม่เวอร์ ก็ไม่ขาย ยกเลิกดีไซน์นั้นไป”

สำหรับตลาดเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศนั้น มีผู้ผลิตที่ทำตลาดเพื่อการส่งออกได้ปรับพอร์ตการทำธุรกิจ โดยหันมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูง แต่ถึงกระนั้น ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศยังมีแนวโน้มเติบโตที่สูง คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยได้อานิสงส์จากโครงการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม และโครงการบ้านจัดสรรที่ผู้ประกอบการยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของภาพรวมตลาดเฟอร์นิเจอร์สำหรับตลาดอาคารสำนักงานเติบโตไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในระหว่างการฟื้นตัว โดยภาคเอกชนคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้ประมาณ 3% ซึ่งก็ถือว่ามีอัตราเติบโตที่ดีขึ้นแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น