xs
xsm
sm
md
lg

เฟอร์นิเจอร์ไอเดีย “ล้านนา” ฝีมือนักศึกษา รอวันขึ้นชั้น “เถ้าแก่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศุภกฤต  เติมศรีสุข (คนนั่ง) อาจารย์  กับนักศึกษาชั้น ปี 3  ประจำคณะศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เอกสาขาออกแบบเครื่องเรือน มทร.ล้านนา
พวกเขาคือนักศึกษา ปี 3 คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม วิชาเอกออกแบบเครื่องเรือน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ภาคพายัพ เชียงใหม่ (มทร.ล้านนา) ที่มีโอกาสนำผลงานการออกแบบเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์มาจัดแสดงโชว์ในงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไทยเพื่อการส่งออก หรือ Thailand International Furniture Fair 2015 (TIFF 2015) จัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา

จุดเด่นในผลงานคือ นำเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นภาคเหนือ หรือสไตล์ “ล้านนา” มาผสมผสานกับงานออกแบบ กลายเป็นสินค้าที่มีความแปลกใหม่และบ่งบอกถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี แม้ผลงานดังกล่าวจะเป็นเพียงตัวต้นแบบ และยังมีหลายสิ่งต้องปรับปรุง แต่ถือเป็นก้าวแรกของหนุ่มสาวนักสร้างสรรค์ที่ได้ลงสนามจริง ช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ เพื่อปูทางรอวันเติบโตเป็นผู้ประกอบการมากคุณภาพในอนาคต
ผลงาน“CHIANG LAMP” หรือ “โคมไฟช้าง”
ธนพร ลำเขียว เป็นตัวแทนเพื่อนๆ เล่าให้ฟังว่า ในชั้นเรียนคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม วิชาเอกออกแบบเครื่องเรือน มทร.ล้านนา มีนักศึกษารวม 28 คน ได้รับการบ้านมาจากอาจารย์ศุภกฤต เติมศรีสุข (อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เอกสาขาออกแบบเครื่องเรือน มทร.ล้านนา) ให้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ใดๆ ก็ตามหนึ่งชิ้น ที่สามารถสื่อถึงวัฒนธรรมภาคเหนือ โดยจะทำเป็นกลุ่ม หรือทำเดี่ยวก็ได้ ในที่สุดได้ผลงานต้นแบบออกมา 7 ชิ้น

สำหรับผลงานของกลุ่มเธอ ใช้ชื่อว่า “CHIANG LAMP” หรือ “โคมไฟช้าง” สมาชิกกลุ่มนอกตัวเธอแล้ว ยังประกอบด้วย อัฉราภรณ์ พังแพร่ หทัยชนก ทิพย์ศักดิ์ และสุภัทร์ชา หนักคำ มีแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงานชิ้นนี้ โดยนำ “ช้าง” ซึ่งถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำจังหวัดเชียงใหม่ มารวมเข้ากับ “เทศกาลวันยี่เป็ง” ซึ่งจะมีการปล่อย “โคมลอย”ขึ้นบนท้องฟ้า ส่องแสงสว่างสวยงาม
แบบร่าง ก่อมาเป็นผลิตภัณฑ์
ดังนั้น การออกแบบจึงทำเป็นโคมไฟสไตล์ล้านนาโมเดิร์นที่ให้มีรูปร่างออกมาคล้ายช้าง ประโยชน์สามารถใช้เป็นโคมไฟตั้งโต๊ะ หรือติดฝาผนังก็ได้ เพื่อเหมาะกับที่พักอาศัยของคนรุ่นใหม่ที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แถมมีลูกเล่นส่วนแผ่นที่ทำหน้าที่คล้ายเป็นงวงช้าง เมื่อขยับปรับองศาจะมีส่วนปรับความสว่างมากน้อยของโคมไฟด้วย ขณะที่วัสดุทำจากพลาสติกอะคริลิก ซึ่งมีความแข็งแรง ทนความร้อน และเมื่อเปิดหลอดไฟ แสงที่ออกมาจะขาวนวลสวยงาม ขณะที่หลอดไฟภายในใช้เป็นหลอด LED ความแข็งแรงสูง และประหยัดพลังงาน

ธนพรเล่าว่า ผลงานโคมไฟช้างใช้เงินของสมาชิกกลุ่มลงขัน เบ็ดเสร็จประมาณพันกว่าบาทเท่านั้น โดยเป้าหมายในอนาคตหลังเรียนจบอยากจะออกไปทำงานมีธุรกิจของตัวเองเกี่ยวข้องกับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งการทำงานพัฒนาสินค้าต้นแบบในครั้งนี้ช่วยให้มีประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการเอาชนะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณน้อยกับเวลาที่จำกัด แต่สามารถทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้ตามโจทย์ที่ได้รับมอบหมาย
ผลงาน THUNG OF LIGHT
ผลงานต่อมานของทีมหนุ่มมาดกวน ประกอบด้วย ธนาทร ทับแสง สุปัญญา โจแก้วทิ นัฐพงศ์ ภิญญะ และณัฐวุฒิ คำลือ ในชื่อว่า THUNG OF LIGHT โดยใช้ประโยชน์เป็นชั้นวางของอเนกประสงค์ รวมถึง สามารถแขวนสิ่งของต่างๆ ด้วย เช่น พวงกุญแจ ซองจดหมาย บิลใบเสร็จต่างๆ ฯลฯ แรงบันดาลใจการออกแบบ คือการนำ “ตุง” ซึ่งเป็นธงแขวนแบบหนึ่งในศิลปะล้านนา พบเห็นได้ในภาคเหนือ มาผสมผสานกับโคมไฟล้านนา

จุดเด่นคือเป็นชั้นวางของที่มีความสวยงาม ได้กลิ่นอายสไตล์ล้านนา ผ่านลวดลายฉลุที่เป็นเอกลักษณ์ของตุง รวมถึงยังมีแสงสว่างจากหลอดไฟ LED สื่อถึงโคมไฟล้านนา ด้านการใช้งาน แฝงลูกเล่นที่สามารถเลื่อนอุปกรณ์ส่วนที่เป็นโคมไฟไปมาได้ตามแนวนอนของชั้นวางของ ซึ่งจะมีประโยชน์ ช่วยปรับพื้นที่ให้เหมาะในการวางสิ่งของต่างๆ แต่ละชนิด รวมถึงแสงไฟเพิ่มความสวยงาม และช่วยอำนวยความสะดวกต่อการค้นหาสิ่งของบนชั้นวางด้วย
ธนาทร ทับแสง เป็นตัวแทนกลุ่ม เล่าถึงการออกแบบและใช้งาน
ธนาทร ทับแสง เป็นตัวแทนกลุ่ม เล่าความฝันของพวกเขาในอนาคตหลังเรียนจบว่า อยากจะรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่ทำงานนี้ด้วยกันตั้งบริษัทเล็กๆ ผลิตสินค้าดีไซน์ โดยมีอาจารย์ที่สั่งสอนความรู้แก่พวกเขาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา เพราะเชื่อว่าหากเริ่มต้นธุรกิจกับกลุ่มเพื่อนสนิทจะทำงานได้อย่างสบายใจ เพราะเข้าขารู้ใจกันดี รวมถึงยังมีความมั่นใจมากกว่า
ผลงาน SUKU COFFEE TARBLE
อีกผลงานจากฝีมือของเด็กๆ นักศึกษา มทร.ล้านนา ได้แก่ SUKU COFFEE TARBLE โดยกรวิร์ วิชัยชัทคะ จันจิรา จันทเรียน และสุพล เกไชษา ซึ่งเป็นชุดโต๊ะกาแฟ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีชื่อเสียงเรื่องแหล่งวัตถุดิบเมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมของประเทศไทย รวมถึงเป็นศูนย์รวมร้านกาแฟชื่อดังจำนวนมาก ส่วนการออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากลายผ้าซิ่นของชาวไทยภูเขา ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของชนเผ่าและแฝงความงดงามของลายผ้าซิ่น

ทั้งนี้ ลูกเล่นของชุดโต๊ะกาแฟนี้จะประกอบด้วยชิ้นส่วนจำนวน 4 ชิ้น สามารถต่อประกอบ และแยกส่วนกันได้แบบจิ๊กซอว์ สามารถนำออกมาพลิกแพลงการต่อประกอบ เพื่อไปใช้งานหลายรูปแบบแล้วแต่จุดประสงค์ และตามความเหมาะสมของพื้นที่

ด้านศุภกฤต เติมศรีสุข อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรม สถาปัตยกรรม เอกสาขาออกแบบเครื่องเรือน มทร.ล้านนา เล่าว่า จุดประสงค์ที่มอบงานชิ้นนี้ให้แก่นักศึกษาเพื่อปลูกฝังให้พวกเขามีความเป็นมืออาชีพในการทำงานจริง และต้องการให้นักศึกษามีความพร้อมเพื่อหลังจากจบการศึกษาไปแล้วสามารถจะก้าวเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่สร้างธุรกิจของตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างบริษัทต่างๆ เท่านั้น

“ในความเห็นของผมอยากให้เด็กๆ ก้าวออกไปเป็นผู้ประกอบการ เพื่อที่พวกเขาจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้มากกว่า และหากเขาทำผลิตภัณฑ์ได้ถูกใจตลาด และมีแบรนด์เป็นของตัวเองสำเร็จจะนำมาสู่ความยั่งยืนในอาชีพหรือธุรกิจของตัวเขาเอง ในขณะที่ถ้าเข้าไปทำงานเป็นลูกจ้าง เขาอาจจะถูกจำกัดกรอบความคิดให้ต้องทำตามความต้องการของบริษัท ในที่สุดความสามารถของเขาก็จะไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ” ศุภกฤตกล่าว และเล่าต่อว่า
ภาพต้นแบบ การใช้งาน และที่มาของไอเดีย
การพานักศึกษามาโชว์ผลงานใน TIFF2015 วัตถุประสงค์หลักต้องการให้นักศึกษาได้จำลองการทำงานจริง ที่ต้องเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ เรื่องเวลา ฯลฯ และที่สำคัญ ได้เรียนรู้ความต้องการของลูกค้าด้วยตัวเอง ให้พวกเขาเรียนรู้ว่า ทำสินค้าอย่างไรจึงจะ “ขายได้”

“ผมแค่ตั้งโจทย์กว้างๆ ว่า ให้ทำผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ได้ ภายใต้เงื่อนไขต้องมีสไตล์ล้านนาเข้าไปผสมผสาน โดยใช้ประสบการณ์เสริมความคิดของเด็กๆ เท่านั้น แต่จะไม่ใช้ตัวเองเป็นหลักตัดสินว่างานที่เด็กๆ ทำขึ้นดีหรือไม่ แต่พามาออกบูทเพื่อให้เด็กๆ เผชิญกับความจริงว่า งานที่ทำขึ้นลูกค้าจะชอบไหม และถ้าขายจริงจะมีคนซื้อไหม”

ศุภกฤตระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญที่พยายามจะบอกต่อนักศึกษาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใดๆ ก็ตาม ควรให้ความสำคัญเรื่องถูกใจผู้บริโภคเป็นอันดับแรก โดยเน้น “ประโยชน์ใช้สอย” เป็นตัวนำ แล้วอาศัยดีไซน์เข้าไปเสริม เพื่อเพิ่มความโดดเด่น และเพิ่มมูลค่า โดยให้เป็นสินค้าที่ถูกใจผู้ใช้ ดีกว่าเป็นสินค้าที่สวยแต่ขายไม่ได้

นอกจากนั้น เขาเสริมว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่นักศึกษาจบใหม่จำนวนมากเมื่อไปเข้าสู่ระบบการทำงานจริงแล้วในช่วงแรกไม่สามารถทำงานได้ทันที เกิดจากระบบการศึกษา และสถาบันการศึกษาของไทยไม่ได้มุ่งปลูกฝังให้เด็กมีความเป็นมืออาชีพ พร้อมจะทำงานจริง หากแต่เรียนมาเพียงเพื่อหวังได้เกรดจบการศึกษาเท่านั้น

“ที่เด็กจบใหม่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปเป็นผู้ประกอบการได้ หรือเริ่มงานในองค์กรต่างๆ แล้วไม่สามารถทำงานได้ทันที ผมไม่โทษเด็กๆ เลย แต่คิดว่าระบบการศึกษาและสถาบันการศึกษาของไทย ไม่ได้ฝึกหรือเตรียมพร้อมให้เขาเป็น “มืออาชีพ” มีความพร้อมในการทำงาน ดังนั้น ผมจึงพยายามให้นักศึกษาของผมได้ทำงานด้วยตัวเองมากที่สุด โดยผมทำหน้าที่คอยเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น นอกจากนั้น ทางสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนต่างๆ ก็ควรเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น งบประมาณในการทำสินค้าต้นแบบต่างๆ หรือให้โอกาส หรือพื้นที่แก่เด็กๆ ได้แสดงผลงานของพวกเขา” ศุภกฤตทิ้งท้าย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น