xs
xsm
sm
md
lg

รัฐช้าฉุดหุ้นไทยซึม ความเชื่อมั่นหดต่อเนื่อง โบรกฯ แย้มกำไร บจ. จ่อถูกหั่นเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หุ้นไทยไร้ปัจจัยสนับสนุนหลังภาครัฐเดินเครื่องเศรษฐกิจล่าช้า ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงต่อเนื่อง แถมส่อกดดัน กนง.ลดอัตราดอกเบี้ย แม้มีนาคมทั่วไปต่างชาติเข้าซื้อสุทธิต่อเนื่อง และยังมีเม็ดเงิน QE จากยุโรปเข้าหนุนก็ตาม โบรกฯ คาดการปรับลดประมาณกำไร บจ.อาจเกิดขึ้นอีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-27 ก.พ.) ว่า ดัชนี SET ปรับลดลงหลังตลาดขาดปัจจัยบวกหนุน โดยปิดที่ระดับ 1,587.01 จุด ลดลง 1.03% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 40.09% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 61,471.65 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 798.00 จุด เพิ่มขึ้น 0.18%

ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวน โดยปรับลดลงในวันจันทร์จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนแต่ขยับขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์จากข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายเวลามาตรการช่วยเหลือกรีซ ออกไปอีก 4 เดือน แต่ตลาดปรับตัวลงอีกครั้งในวันพุธ โดยมีแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนต่างชาติ ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในวันพฤหัสบดี จากการซื้อเก็งกำไรผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และกลับมาร่วงลงอีกครั้งในวันศุกร์ จากแรงขายหุ้นในกลุ่มพลังงานตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันโลก

สำหรับสัปดาห์นี้ (2-6 มี.ค.) มองว่า ดัชนีมีแนวต้านที่ 1,600 และ 1,623 จุดตามลำดับ ขณะที่แนวรับอยู่ที่ 1,583 และ 1,567 จุด โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคงได้แก่ การรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ของไทย รวมทั้งการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น เครื่องชี้ภาคการผลิต และการรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาการรายงานดัชนี PMI ของจีน และประเทศในยูโรโซน รวมทั้งการเริ่มเดินหน้าทำ QE ของธนาคารกลางยุโรปด้วย

นายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส ให้ความเห็นถึงทิศทางในสัปดาห์นี้ว่า คาดภาพรวมดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยคง Sideway เพื่อรอปัจจัยใหม่ที่จะมีขับเคลื่อนดัชนีฯ ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงชัดเจน ขณะที่กระแสเงินทุนจากต่างชาติยังไม่ไหลเข้ามาชัดเจนหลังขาดปัจจัยชี้นำ

“สัปดาห์หน้าคาดว่าตลาดฯ Sideway แกว่งออกข้าง เป็นการรอปัจจัยใหม่ๆ เพราะขณะนี้ไม่มีปัจจัยใดมาขับเคลื่อนตลาดฯ ให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงชัดเจน ด้านนักลงทุนต่างชาติมองว่าไม่มีความโดดเด่นเข้ามาเพราะไม่มีปัจจัยใดเป็นตัวชี้นำ”

ทั้งนี้ ประเมินแนวรับดัชนีอยู่ที่ 1,580 จุด ส่วนแนวต้าน 1,600 จุด กลยุทธ์การลงทุน แนะนำนักลงทุนรอซื้อช่วงอ่อนตัว หากใครมีหุ้นแนะถือต่อเนื่องมองว่าภาพตลาดฯ ระยะกลางยังดีอยู่

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ให้มุมมองว่ามีมุมมอง “ระมัดระวัง” แม้ต่างชาติมักเป็นผู้ซื้อสุทธิในเดือน มี.ค. ของทุกปี เนื่องจากการเดินหน้าประเทศมีความล่าช้า โดยความกังวลที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วคลี่คลายลงทันที หลังผลการประชุมร่วมกันกับสภาคองเกรสเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ประธาน FED ระบุยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 การประชุมข้างหน้า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งสะท้อนทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในอนาคตปรับลดลงทันทีมาเคลื่อนไหวแถว 2.0%

ส่วนปัญหาหนี้กรีซมีทางออกแล้ว หลังสหภาพยุโรป (EU) เพิ่งอนุมัติการขยายเวลาแผนช่วยเหลือทางการเงินกรีซต่อไปอีก 4 เดือน จากเดิมที่สิ้นสุดลงในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม เดือน มี.ค. นี้ จะเป็นเดือนแรกที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) เริ่มต้นซื้อพันธบัตรเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโรตามโครงการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (Public QE) ซึ่งน่าจะหนุนให้มีเม็ดเงินใหม่ๆ จากต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น หลังจากแนวโน้มการทำ Euro-carry-trade โดยนับตั้งแต่ ECB ประกาศทำ Public QE เมื่อวันที่ 22 ม.ค. เป็นต้นมา มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นภูมิภาคทั้ง 5 แห่งแล้วกว่า 7.7 พันล้านดอลลาร์ฯ

“คาดว่าสภาพคล่องจากต่างประเทศจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการลงทุนในเดือนนี้ ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติย้อนหลังในช่วง 5 ปี และ 10 ปีควบคู่กัน (ปี 2005-14) เราพบว่า มีโอกาส 70-100% ที่นักลงทุนต่างชาติจะผู้ซื้อสุทธิในเดือน มี.ค. โดยเฉลี่ยจะซื้อสุทธิเป็นเงินราว 1.0-2.3 หมื่นล้านบาท”

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันอาการเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงมากขึ้น หลังตัวเลขส่งออกไทยเดือน ม.ค. เริ่มต้นปี 2015 ออกตัวไม่ค่อยสวยนัก โดยติดลบ -3.5% YoY และขาดดุลการค้า -457 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่สินเชื่อภาคธนาคารพาณิชย์โดยรวม (ไม่รวม BTMU ที่เกิดจากควบรวมกิจการกับ BAY) ของ 7 ธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ภายใต้การวิเคราะห์ของเราหดตัว -0.6% MoM ในเดือน ม.ค. เทียบกับ +1.2% MoM ในเดือน ธ.ค. และหากเทียบ YoY สินเชื่อชะลอตัวเหลือเพียง +3.2% ในเดือน ม.ค. 2015 (เทียบกับ +13.0% ในเดือน ม.ค. 2013, +8.9% ในเดือน ม.ค. 2014 และ +4.1% ในเดือน ธ.ค. 2014)

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลในปัจจุบันลดลงต่อเนื่อง หลังหลายเรื่องถูกเลื่อนเวลาออกไป เช่น การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21, การประมูล 4G ที่อาจไม่ใช่ช่วงกลางปีนี้ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า หลังโครงการลงทุนภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจไม่เดินหน้าเท่าที่ควร ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ ไม่เป็นผลดีต่อแนวโน้มประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ในปีนี้ ที่น่าจะถูกหั่นลงอีก ขณะเดียวกัน ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอาจเป็นแรงกดดันต่อการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 11 มี.ค. นี้ ที่อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบันที่ 2%

“แม้เรายังคงเป้า SET Index ระยะสั้น ขึ้นทดสอบ 1,650 จุด แต่ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มมีความเสี่ยงจากการเดินหน้าประเทศที่มีความล่าช้า ประกอบกับภาวะตลาดเริ่มมีความผันผวนมากขึ้น เราจึงกำหนดจุด Stop Loss ควบคู่กันด้วย หาก SET Index ปิดต่ำกว่าบริเวณแนวรับ 1,570-80 จุด”
กำลังโหลดความคิดเห็น