ธ.กสิกรฯ หนุนการร่วมทุนข้ามประเทศ เปิดเจรจาธุรกิจผ่านเว็บไซต์ โดยเฉพาะอาเซียน+3 และกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งคาดว่าจะเติบโตสูงกว่า 70% เชื่อช่วยหนุนการส่งออกไทยกลับมาฟื้นตัวได้
นายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารเปิดตัวเว็บไซต์ www.askkbank.com/aecplusmatching เพื่อให้นักธุรกิจไทย และต่างประเทศหาพันธมิตรทางธุรกิจในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้มีผู้ใช้งานทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1,000 บริษัท และตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 3,000-4,000 บริษัทในอีก 3-4 ปี โดยเน้นการจับคู่ธุรกิจลูกค้าที่อยู่ในอาเซียนเป็นหลัก คือ อาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และกลุ่ม CLMV และอินโดนีเซีย รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีนี้ และถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยมีอัตราการขยายตัวสูงมากกว่าร้อยละ 6 และคาดการณ์มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน+3 และไทย กับ CLMV จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 70 ในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสามารถเข้าไปหาข้อมูลเชิงลึกของผู้ซื้อ และผู้ขายผ่านทางระบบออนไลน์ รวมถึงการส่งข้อความโต้ตอบในการเจรจาธุรกิจได้โดยตรงบนเว็บไซต์ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง นอกจากนี้ ยังสามารถขอตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคู่ค้า รับคำปรึกษา และข้อมูลจากธนาคารในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งวิธีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจของผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ
“โดยรูปแบบบริการนี้เป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2558 และสนับสุนให้นักธุรกิจไทยหาโอกาสทางการค้าขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียน+3 และทั่วโลก” นายพิพิธ กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการที่สมัครเป็นสมาชิกจะต้องเป็นลูกค้าของธนาคาร หรือลูกค้าของพันธมิตรดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 3 ปี มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยมีผลการดำเนินงานที่เป็นกำไร และมีวงเงินสินเชื่อที่ปราศจากประวัติหนี้เสีย
ด้าน ร้อยเอกสุวิพันธุ์ ดิษยมณฑล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การให้บริการดังกล่าวทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องต่อพันธกิจของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ขยายความเขื่อมโยงการค้าการลงทุน ตลอดจนปฏิรูปโครงสร้างการส่งออกเพื่อวางแผนรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาว
โดยในปี 2557 ไทยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 227,574 ล้านเรียญดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2556 เนื่องจากเศรษฐกโลกยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ของประเทศมหาอำนาจยังส่งผลให้ค่าเงินของสกุลต่างๆ เกิดความผันผวน รวมถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จึงเร่งผลักดันส่งออกในกลุ่มตลาดอาเซียน ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการรักษาฐานการส่งออกเดิมไว้ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งมองหาตลาดใหม่ เช่น อินเดีย และตะวันออกกลาง