xs
xsm
sm
md
lg

“ทนง” แนะ “ธปท.” อัดฉีดเงินเข้าระบบ ศก. สกัดเงินฝืด ชี้ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต รมว.คลัง แนะ ธปท.ปรับนโยบายการเงินป้องกันภาวะเงินฝืด โดยใช้มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินใส่ระบบ ขณะที่โลกเกิดภาวะใกล้เงินฝืด เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับใกล้ระดับ 0% เหมือนไทยที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับกว่า 1% เตือนไทยติดกับดักการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนา “ส่องเศรษฐกิจ จัดทัพธุรกิจ พิชิตอาเซียน” ซึ่งจัดโดย อสมท โดยมองภาพรวมว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังคงมีปัญหา อย่างในสหภาพยุโรป (อียู) โดยเฉพาะกรีซยังคงประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ขณะที่โลกเกิดภาวะใกล้เงินฝืด เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับใกล้ระดับ 0% เหมือนไทยที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับกว่า 1% เท่านั้น ที่ผ่านมา เคยแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้วว่า ควรปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินหันมาอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ทาง ธปท.เลือกที่จะดำเนินนโยบายเดิมต่อไป

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศไทยต่างจากกรีซมาก เพราะอัตราว่างงานของไทยต่ำมากเป็นความฝันของทุกประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยยังไม่เติบโต อาจเป็นเพราะไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงจุดหนึ่งแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ เศรษฐกิจไม่โต ราคาข้าวตก ราคายางตก อำนาจบริโภคชนบทหายไปมาก ธุรกิจในเมืองที่พึ่งพาก็โตได้จำกัดตามไปด้วย รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ และหากมีปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้น ย่อมส่งผลต่อการส่งออกจะทำได้ยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลยังจับประเด็นแก้ปัญหาไม่ครบ จะต้องแก้โดยหาวิธีการว่าทำอย่างไรให้คนจนรวยขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

“ประเทศไทยติดกับดักการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เหตุเพราะประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำการกระจายรายได้แย่ลง เพราะแนวความคิดของไทยที่ท่องจำกันว่า ต้องเป็นประเทศการเกษตร ต้องส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นแนวคิดที่จะทำให้คนจนตลอดเวลา และมีการบิดเบือนกลไกตลาด”

ดังนั้น จะต้องหาทางทำอย่างไรประชากรชาวนาที่มีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 40 ของคนไทยทั้งหมด ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว โดยแนวทางหนึ่งคือ ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการลดจำนวนประชากรไทยที่อยู่ในภาคการเกษตรลง และเพิ่มผลิตภาพให้มากขึ้น จากนั้นก็มีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากสมรรถนะการผลิตต่ำไปสู่แหล่งที่มีสมรรถนะการผลิตสูงกว่า แนวทางดำเนินการเช่น การให้เกษตรกรไทยมีเครื่องมือเครื่องจักรที่ดีก็จะช่วยเพิ่มผลิตภาพให้แก่ภาคการเกษตรของไทยได้ สิ่งนี้เชื่อว่า จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรได้

นายทนง ยังกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับให้เงินบาทอ่อนค่าเพื่อแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เป็นความคิดที่ผิด เพราะคิดแข่งกับประเทศที่จนกว่าไทย ค่าเงินบาทควรอยู่กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 14 ประเทศ ซึ่ง ธปท.จะต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้เงินบาทอยู่ในระดับที่พอดีที่จะเปรียบเทียบในการแข่งขัน เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นต้น การแข่งกับ CLMV จะทำให้ไทยจนลง เพราะประเทศไทยไม่มีทางที่จะปลูกข้าวแข่งกับพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา ได้เลย การส่งออกสินค้าปฐมภูมิของไทยจะต้องลดลง ต้องเปลี่ยนไปเป็นการสินค้าที่มูลค่าเพิ่มมากขึ้นแทน
กำลังโหลดความคิดเห็น