“ออมสิน” สั่งตรวจสอบสินเชื่่อก่อสร้าง 396 โรงพัก วงเงินเกือบ 6 พันล้าน เผยล่าสุด ธนาคารอาจต้องจ่ายค่าเสียหายแทนบริษัทรับเหมา กรณีงานก่อสร้างมีปัญหา แฉเงื่อนงำอนุมัติโดยสาขาเพียงแห่งเดียว พร้อมตั้งทีมตรวจสอบตามข้อสังเกตของ ธปท. กรณีปล่อยกู้เพื่อซื้อที่ดินอาคาร และค่าปรับปรุงตกแต่งให้เป็นรีสอร์ต-สปา โดยทราบอยู่แล้วว่า อาคารดังกล่าวเป็นสถานอาบอบนวด และยังคงดำเนินธุรกิจอาบอบนวดเป็นปกติ อาจไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อ
รายงานข่าวจาก ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารออมสิน ที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธาน ได้สั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ถูกต้องตามผลการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยให้นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เร่งนำข้อสรุปเสนอคณะกรรมการโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ก็ยังพบว่ากรณีการปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่ไปรับเหมาก่อสร้างโรงพักตำรวจทั่วประเทศ 396 แห่ง และก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย หรือแฟลตตำรวจ 163 หลัง วงเงินกว่า 5,848 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวได้เบิกเงินล่วงหน้าไปแล้ว 15% คิดเป็นเงินกว่า 877 ล้านบาท และค่างวดอีกกว่า 656 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 1,533 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารได้ออกหนังสือค้ำประกัน หรือ letter of guarantee ให้บริษัทดังกล่าวเพื่อเป็นการค้ำประกันให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรณีที่การก่อสร้างมีปัญหา มีวงเงินประมาณ 1,100 ล้านบาทนั้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการชุดเก่าได้สอบข้อเท็จจริงไว้เกือบทั้งหมดแล้ว เบื้องต้นมีความเป็นได้สูงที่ธนาคารอาจต้องจ่ายค่าเสียหายตามวงเงินที่ออกหนังสือประกันให้กับกรมตำรวจ และธนาคารจะต้องไปติดตามค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวแทน
ทั้งนี้ จากการสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการอนุมัติเรื่องนี้จากส่วนกลาง และโยนเรื่องการอนุมัติสินเชื่อให้เป็นอำนาจของสาขาที่เชียงใหม่ทำทั้งหมด โดยอ้างว่าอยู่บริเวณเดียวกับที่ตั้งของบริษัทขณะที่การก่อสร้างโรงพักกระจายอยู่ทั่วประเทศ เหตุใดถึงไม่ให้อำนาจที่สาขาใกล้เคียงจะได้ออกไปตรวจความคืบหน้าโครงการได้จริงก่อนอนุมัติเงิน
รายงานข่าวยังระบุเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการธนาคารฯ ยังมีการตั้งทีมตรวจสอบตามข้อสังเกตของ ธปท. กรณีที่ธนาคารอนุมัติให้กู้ยืมเพื่อซื้อที่ดินอาคาร และค่าปรับปรุงตกแต่งอาคารให้เป็นรีสอร์ตและสปา โดยทราบอยู่แล้วว่าอาคารดังกล่าวเป็นสถานอาบอบนวด และยังคงดำเนินธุรกิจอาบอบนวดเป็นปกติ อาจไม่เป็นไปตามนโยบายสินเชื่อ