xs
xsm
sm
md
lg

PS เล็งดึงพานาฯ ผลิตระบบโซลาร์รูฟต่อยอดบ้านนวัตกรรม 5 ล้านบาท อัป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พฤกษาฯ ตอบโจทย์ลูกค้าบ้านหรู 5 ล้านบาทอัป ต่อยอดนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงาน เพิ่มมูลค่าบ้าน ดึง “พานาโซนิค” ผลิตระบบโซลาเซลล์ ติดตั้งบ้านระดับบน เสริมแกร่งบ้านหรู รองรับกลยุทธ์ พัฒนาบ้านคุณภาพและ บริการ ด้วยนวัตกรรมเพื่ออนาคต 4 ในด้าน 1. บ้านแข็งแรงปลอดภัย 2. บ้านที่ใส่ใจสุขภาพ 3. บ้านลดพลังงาน 4. บ้านทันสมัย หลังคุยพานาโซนิค ญี่ปุ่น ผลิตระบบโซลาร์รูฟคาดราคา 600,000 บาท

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการ เปิดเผยว่า ในปีนี้ พฤกษาฯ ยังคงเน้นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ให้เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจลูกค้า มุ่ง “คิด สร้างสรรค์คุณค่า” หรือ “Create Value” โดยได้ศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยผู้บริโภค และพัฒนารูปแบบบ้านให้สอดคล้องความต้อง 4 ด้าน คือ 1) บ้านแข็งแรงปลอดภัย (Safety Home) 2) บ้านที่ใส่ใจสุขภาพ (Healthy Home) 3) บ้านประหยัดพลังงาน (Green Home) 4) บ้านที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Smart Home)

ทั้งนี้ จาการศึกษาดูงานและเยี่ยมชมนวัตกรรมบ้านประหยัดพลังงานพานาโฮม (Pana Home) ในเครือของพานาโซนิค ณ Smart City ShioAshiya ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำความรู้ไปต่อยอด พัฒนาบ้าน ตามแนวคิดนวัตกรรมเพื่ออนาคต 4 ด้านดังกล่าว

พบว่า โครงการ Smart City ShioAshiya โครงการที่ บริษัทพานาโซนิค พัฒนาขึ้นนั้นมีการพัฒนาระบบโซลาร์รูฟ เข้าไปใช้ในบ้าน ซึ่งตรงกับความต้องการของที่จะพัฒนาบ้านประหยัดพลังงานเข้าสู่ตลาดในปี 58 นี้

โดยในเบื้องต้น บริษัทสนใจระบบโซลาร์รูฟที่ใช้ในโครงการ Smart City ShioAshiya ซึ่งได้มีการพูดคุยกับทางพานาโซนิคแล้ว แต่ระบบที่ใช้โครงการดังกล่าวนั้นมีขนาดใหญ่และราคาสูง ซึ่งหากนำมาใช้ในบ้านของพฤกษาจะทำให้มีต้นทุนที่สูงและไม่เหมาะกับกำลังซื้อของลูกค้าบริษัท จึงได้มีการพูดคุยถึงความร่วมมือกันในการพัฒนาระบบโซลาร์รูฟ ที่มีขนาดเล็กลงและราคาที่ต่ำกว่าที่ผลิตขายในประเทศญี่ปุ่น

นายโนริยุคิ ยาสุโอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีแผนทำตลาด Solar Roof ในประเทศไทย โดยเสนอราคาขนาด 6 กิโลวัตต์ ในราคา 600,000 บาท โดยปัจจุบันก็มีการทำตลาดในประเทศไทยบ้างแล้ว แต่จะทำเต็มที่ปี 59 โดยในระยะแรกนำเข้า Solar Roof มาจากประเทศมาเลเซีย โดยบริษัทพานาโซนิค (ประเทศไทย) เป็นผู้นำเข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศไทย และได้มีการคุยกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งเพื่อที่จะสนับสนุนในเรื่องของระบบ Solar Roof ในประเทศไทย ขนาด 6 กิโลวัตต์

ในขณะที่โครงการ Smart Pana Home ที่ประเทศญี่ปุ่น ใช้งบประมาณสำหรับการวางระบบ Solar Roof ขนาด 12 กิโลวัตต์ ในราคา 1.6 ล้านบาท ซึ่งในในบ้านขนาด 140 ตารางเมตร โดยจะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 10 ปี นอกจากระบบโซลาร์รูฟแล้ว ยังมีแผนจะนำเข้าการวางระบบ Smart Home ที่มีระบบสั่งการด้วย Mobile Phone ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

สำหรับโครงการ Smart City ShioAshiya มีขนาดพื้นที่รวม 122,940 ตารางเมตร (ราว 80 ไร่) ประกอบไปด้วยบ้านเดี่ยวและคอนโดมิเนียม ด้วยแนวคิดแบบ “Net Zero Energy” โดยผนวกแนวคิดบ้านแบบอัจฉริยะ (Smart Home) ร่วมกับบ้านประหยัดพลังงาน (Green Home) ในบ้านใช้แผงควบคุมระบบการเปิดปิดน้ำและไฟในบ้าน ผ่านทางอุปกรณ์โทรศัพท์หรือแทบเล็ตได้ และมีจุดเด่นในการแปลงพลังแสงอาทิตย์เป็นพลังไฟฟ้า และกักเก็บไว้ใช้ในบ้าน พร้อมขายกระแสไฟฟ้าที่เหลือให้รัฐบาลได้อีกด้วย บ้านแต่ละหลังสามารถแปลงไฟและขายได้ประมาณเฉลี่ย 500,000 เยนต่อปี โดยมีระยะเวลา คุ้มทุนประมาณ 6 ปี ขณะที่ระบบควบคุมและแผงโซลาร์เซลล์ มีอายุใช้งาน 20 ปี

“ภายในบ้าน ขนาด 50 ตร.วา พื้นที่ใช้สอย 120 ตร.ม. ราคา 65 ล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 18.2 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ การก่อสร้างเฉพาะตัวบ้าน 35 ล้านเยน (ประมาณ 9.8 ล้านบาท) งบประมาณการก่อสร้างระบบโซลาร์เซลล์ 3 ล้านเยน (ประมาณ 840,000 บาท) งบประมาณ การก่อสร้างระบบ Smart Home ได้แก่ แผงควบคุมต่างๆ ในบ้าน 1.5 ล้านเยน (ประมาณ 420,000 บาท) สำหรับโซลาร์รูฟหรือโซลาร์เซลล์นั้น พานาโซนิคเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 48 โดยเริ่มจากการใช้ในบ้านเฉพาะหลัง และเริ่มพัฒนาเปลี่ยนมาใช้หลังคาโซลาร์เซลล์ทั้งโครงการ ที่ Smart City ShioAshiya ตั้งแต่ปี 56”

นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามการเก็บพลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ทั้งโครงการของ Pana Home นี้ ถือเป็นระยะเวลาทดลองใช้งานที่ไม่นานนัก หากนำระบบนี้ไปใช้ในประเทศไทย อาจจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากความแตกต่างของสภาพอากาศในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน แต่มั่นใจจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น พฤกษา เรียลเอสเตท จึงเล็งเห็นคุณค่าและประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนจะได้รับในระยะยาว และเมื่อนวัตกรรมนี้ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นแล้ว พฤกษา เรียลเอสเตท จะนำระบบที่เหมาะสมมาพัฒนาใช้งานกับบ้านในโครงการของบริษัทฯ ในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อตอบรับกับกลยุทธ์ของการสร้างแบรนด์ของบริษัทฯ มุ่งเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจลูกค้า โดย “คิด สร้างสรรค์คุณค่า” หรือ “Create Value” เพื่อสร้างสรรค์บ้านที่มีคุณค่าให้แก่ลูกค้าต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น