เอ็น.ดี.รับเบอร์ เทรดวันแรกเหนือจอง 2.9 บาทหรือ 107.41% จากราคาจอง IPO ที่เสนอขายหุ้นละ 2.70 บาท ผู้บริหารพอใจนักลงทุนที่จองซื้อหุ้นได้รับผลตอบแทน ขณะโบรกฯ ประเมินราคาเหมาะสมเฉียด 4 -5 บาท
วานนี้ หุ้นบริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR เข้าเทรดเป็นวันแรก โดยหุ้น NDR เปิดเทรดช่วงเช้าที่ 5 บาท เพิ่มขึ้น 2.30 บาท คิดเป็น 85.189% จากราคาขาย IPO ที่ 2.70 บาท และมาปิดเทรดที่ 5.60 บาท เพิ่มขึ้น 2.90 บาท หรือ 107.41% ระหว่างวันราคาปรับขึ้นไปสูงสุดที่้ 7.30 บาท และต่ำสุดที่ 4.10 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 3,365.68 ล้านบาท
นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ NDR เปิดเผยว่า พอใจสำหรับราคาหุ้น NDR นักลงทุนที่เข้ามาซื้อหุ้น IPO ก็ถือว่าได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม และหลังจากนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าจะมีรายได้แตะระดับ 1 พันล้านบาท ในปี 59 โดยมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจขึ้นแท่นอันดับ 1 ใน 3 อันดับแรกของบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตยางรถจักรยานยนต์ในประเทศภายใน 3 ปี และหวังขึ้นแท่นเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกจึงเตรียมพิจารณาแผนลงทุนขยายกำลังการผลิต 30-40% ช่วงปลายปี 59 จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตยางนอก 3.5 ล้านเส้นต่อปี และยางใน 7 ล้านเส้นต่อปี โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 100 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนจะมาจากเงินทุนหมุนเวียน และจากสถาบันทางการเงิน
อย่างไรก็ดี จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ หากยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำแบบนี้ทั้งปีจะช่วยลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ และการขนส่งลง เชื่อว่าจะส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว 1-2% จากระดับปกติที่ 7-8%
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน NDR ระบุในบทวิเคราะห์ฯประเมินราคาเป้าหมายตามปัจจัยพื้นฐานของ NDR ไว้ที่ 5 บาท มองแนวโน้มอัตรากำไรเด่นจากแนวโน้มราคายางที่ตกต่ำตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และภาวะ Oversupply นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายกำลังการผลิต 50% เพื่อรองรับการส่งออกยางรถจักรยานยนต์ไปต่างประเทศ (อินเดีย)
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯ ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมอ้างอิงคู่แข่งในตลาด เช่น CPR ที่เหมาะสมของ NDR ที่ 3.7-4 บาท อ้างอิง PER 13-14 เท่าปี 15F มองว่า NDR จะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ และราคาวัตถุดิบยางภายในประเทศที่ต่ำ เพราะ NDR ประกอบธุรกิจแบ่งได้เป็น 5 ประเภท โดยรายได้หลักของ NDR มาจากการขายยางสำหรับรถจักรยานยนต์เป็นหลักคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของรายได้ และมีการซื้อยางจากผู้ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก ปัจจุบัน บริษัทใช้กำลังการผลิต 70-80% และตลาดหลักของบริษัท คือ ตลาดอะไหล่ทดแทน (Replacement Market) ไม่ใช่ตลาด OEM