xs
xsm
sm
md
lg

คาดสินเชื่อแบงก์ปีนี้โต 7.5% โครงการรัฐหนุนกลุ่มธุรกิจระดมเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินเชื่อแบงก์ปีนี้โต 7.5% โงหัวจาก 4% ในปีก่อน จากสินเชื่อธุรกิจที่กลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนด้วยโครงการต่างๆ ที่ทยอยออกมา แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านการเบิกจ่าย โครงการรัฐล่าช้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในปี 2558 คาดว่าจะเติบโตในกรอบ 7.0-8.0% โดยมีค่ากลางที่ 7.5% ซึ่งเร่งขึ้นจากประมาณ 4.0% ในปี 2557 บนสมมติฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2558 ในกรอบ 3.5-4.5% (ค่ากลางที่ 4.0%) โดยสินเชื่อปล่อยใหม่สุทธิคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 4 แสนล้านบาท ในปี 2557 มาที่กว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับระดับที่เคยทำได้ในปี 2553 ที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ก็ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ที่ประมาณ 11%

โดยสินเชื่อธุรกิจคาดการณ์เติบโต 7-8% จากคาดการณ์ปีก่อนที่ 3% เป็นการฟื้นตัวทั้งสินเชื่อทั้งธุรกิจรายใหญ่ และเอสเอ็มอี ตามแรงหนุนของภาคการส่งออก และการใช้จ่ายในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินเชื่อส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่ Working Capital และสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่สินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะกลางถึงยาว โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจรายใหญ่ ยังเผชิญการแข่งขันกับตลาดตราสารหนี้ และช่องทางการระดมทุนประเภทอื่นๆ เช่น Infrastructure Funds และ REITs

ขณะที่สินเชื่อรายย่อย 8.0-9.0% จากปีก่อนที่ 7.2% ซึ่งเป็นการเติบโตในกรอบที่สูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่อยู่เหนือระดับ 15% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 8.5-9.5% จากปีก่อนที่ 11% ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนสินเชื่อรายย่อยที่สำคัญ แต่จากฐานที่ใหญ่ขึ้น นโยบายเครดิตที่คงความระมัดระวัง และกลุ่มลูกค้าศักยภาพที่จำกัดลง คงทำให้เห็นอัตราการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอลง

สินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ 3.0-5.0% จากปีก่อนที่หดตัวลง 4.5% โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของอำนาจซื้อ และการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ซึ่งช่วยหนุนยอดขายรถยนต์ให้กลับมาเติบโตเป็นบวก อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือน ผลกระทบที่ยังหลงเหลือจากนโยบายรถคันแรกที่ดึงอุปสงค์ไปมากแล้ว และความเข้มงวดของผู้ประกอบการ มีผลจำกัดกรอบบนของอัตราการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อฯ สินเชื่อบัตรเครดิต 9.0-11.0% จากปีก่อนที่ 10.0% และสินเชื่อส่วนบุคคล 6.0-11.0% จากปีก่อนที่ 2.5% โดยรับแรงหนุนจากการกลับมาทำตลาดของผู้ประกอบการบางส่วน โดยเฉพาะหากสถานการณ์เศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น

โดยสินเชื่อธุรกิจน่าจะกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนสินเชื่อได้ โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของกิจกรรมการลงทุน และใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจหลายประเภท เช่น ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง รวมถึงค้าปลีก เป็นต้น ตลอดจนสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศที่น่าจะฟื้นขึ้นเช่นกัน ตามแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งธนาคารพาณิชย์หลายแห่งต่างก็หันมาให้น้ำหนักต่อการเติบโตสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อในภาพรวมมีโอกาสต่ำกว่าคาดที่ 7.0-8.0% หากปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น จนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่ากรอบประมาณการปัจจุบัน โดยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความก้าวหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ และโครงการลงทุนของภาครัฐ สถานการณ์การเมือง ความเสี่ยงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนในประเทศของภาคธุรกิจ ที่มีสัดส่วนถึงราวครึ่งหนึ่งของสินเชื่อธุรกิจทั้งหมด หรือ 1 ใน 3 ของสินเชื่อรวม (รวมสินเชื่อธุรกิจและครัวเรือน)

รวมทั้งยังต้องติดตามผลของกฎหมายพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ว่าด้วยค้ำประกันและจำนอง ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากอาจกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อบางประเภท
กำลังโหลดความคิดเห็น