xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมนำเครื่องมือใหม่ “บอนด์สวิสชิ่ง” บริหารหนี้ภาครัฐไม่ให้กระจุกตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สบน.” เผยองค์กรต่างประเทศหลายรายสนใจเสนอให้กู้แก่ไทย เตรียมนำเครื่องมือใหม่ “บอนด์สวิสชิ่ง” บริหารหนี้ภาครัฐไม่ให้กระจุกตัว หลังพบตัวเลขหนี้ก้อนใหญ่ใกล้ครบกำหนดพร้อมกัน 1.5 แสนล้านบาท

นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันองค์กรระหว่างประเทศเสนอให้เงินกู้แก่ไทยหลายองค์กร สบน.ยังอยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขรายละเอียดการกู้เงิน หากเห็นว่าทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์ เช่น มีเงื่อนไขที่ดี อัตราดอกเบี้ยต่ำยังไม่ได้ปิดโอกาสการกู้เงินจากต่างประเทศ เนื่องจากในระยะต่อไปมีหลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องต่อการจัดซื้อสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า หรือการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) ล้วนอยู่ในแผนก่อหนี้ในปีนี้

“แม้ว่านโยบายของรัฐบาลจะให้เน้นการใช้เงินกู้ในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากสภาพคล่องในระบบมีมากพอ และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ และหากต้องซื้อสินค้าจากต่างประเทศก็สามารถนำเงินบาทไปแลกเงินดอลลาร์กับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้โดยไม่กระทบเศรษฐกิจในประเทศ”

ทั้งนี้ หากแหล่งเงินกู้ต่างประเทศมี่เงื่อนไขที่ดีกว่าจะเสนอขอกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในบางโครงการด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันรัฐบาลมีเงินกู้ต่างประเทศในสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 ของหนี้สาธารณะกว่า 5.6 ล้านล้านบาทเท่านั้นถือว่าน้อยมาก

สำหรับการบริหารหนี้สาธารณะในปีนี้นอกจากจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เดิมคือ การออกตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน พันธบัตรรัฐบาล ล่าสุด สบน.ได้นำบอนด์สวิสชิ่งมาใช้ในการออกพันธบัตร เพื่อกระจายพันธบัตรในรุ่นกระจุกตัวมากให้กระจายออกไปหลายๆ รุ่นแทน โดยล่าสุด ลองใช้ไปแล้วเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ก่อนที่พันธบัตรจะครบกำหนดพร้อมกันในเดือน พ.ค.นี้จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ภาครัฐมีต้นทุนที่ลดลงกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมีทั้งพันธบัตรระยะ 10-15 ปีและ 30-50 ปี ขึ้นอยู่กับความต้องการของสถาบันการเงิน

โดยเตรียมพิจารณารวบพันธบัตรที่มีปริมาณไม่มาก และกระจายอยู่นำมารวมเป็นรุ่นเดียวกันเพื่อให้มีปริมาณที่มากพอในการซื้อขายผ่านตลาดรองตราสารหนี้ ซึ่งถือเป็นการช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้อีกทางหนึ่ง

นายกฤษฎา กล่าวถึงการบริหารหนี้เงินกู้จากโครงการจำนำข้าวว่าในส่วนของเงินกู้เดิม 4 แสนกว่าล้านบาทนั้น ต้องรอการจัดสรรเงินงบประมาณ และการขายสินค้าเกษตรออกไปเพื่อนำมาทยอยจ่ายคืนเงินต้น โดยระหว่างนี้ก็ทำได้เพียงการยืดหนี้ออกไปก่อน ส่วนของการกู้เงินเพื่อชดเชยความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวนั้นต้องรอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ชัดเจน เพราะมีหลายรูปแบบในการกู้เงิน และสุดท้ายต้องตั้งงบประมาณมาชำระคืนในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น