xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยระบบการเงินโลก (ตอนที่ 2) ... บล.โกลเบล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช  ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
หลังจากหมดยุคของอันรุ่งเรืองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) เหรียญโซลิดัส (Solidus) ก็เริ่มมีอิทธิพล และความสำคัญน้อยลงเนื่องจากพอจักรวรรดิเริ่มเสื่อมถอย การใช้ทองคำบริสุทธิ์มาเป็นส่วนผสมในเหรียญโซลิดัสก็มีอัตราส่วนน้อยลงด้วย จึงมีจักรวรรดิอื่นๆ ก็มีการผลิตเหรียญทองคำออกมามากมาย แสดงถึงความรุ่งโรจน์ที่เข้ามาแทนที่ไบแซนไทน์ นอกจากเหรียญทองคำแล้ว เหรียญเงิน (Silver) ก็เริ่มถูกนำมาใช้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในการเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการ โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป ส่วนฝากเอเชีย ยังนิยมทองคำมากกว่า ระบบเงินตราที่ใช้ทองคำ และโลหะเงินเริ่มมีการผูกค่ากัน และกันระหว่างเหรียญเงินของแต่ละประเทศ และเหรียญทองคำของแต่ละประเทศ
 
“พอมีระบบเหรียญเงินเหรียญทองคำมาแล้ว ก็สามารถแก้ไขปัญหาจากระบบ Barter ได้ แต่ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นคือ ผู้ค้าขายก็ต้องทำการเก็บเหรียญทองคำเหรียญเงินไว้กับตัวมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าก็ง่ายต่อการปล้น จี้ ขโมย จึงเริ่มมีคนคิดธุรกิจรับฝากขึ้นมา โดยการันตีทองคำที่นำมาฝากในตู้เซฟจะมียามซึ่งเป็นทหารเฝ้าให้ แต่ผู้ฝากก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการฝากให้แก่เจ้าของธุรกิจนี้ ซึ่งก็คือเหมือนเสียค่าเช่าตู้เซฟนั่นเอง นี่ก็คือรายได้ค่าธรรมเนียมแรกของระบบธนาคารในยุคแรกๆ โดยผู้ฝากก็จะได้กระดาษที่ระบุว่าฝากทองคำไว้เท่าไหร่เป็นการการันตีจากผู้รับฝากไป จุดเริ่มต้นของเงินกระดาษ จริงๆ คือใบรับฝากเหรียญทองเหรียญเงิน”
 
แน่นอนว่าธุรกิจนี้ได้ค่าธรรมเนียมจากการับฝากทองคำเป็นหลัก และพฤติกรรมของคนที่ฝากส่วนใหญ่ก็จะถอนเพียงแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ไม่เกินนี้ เพื่อนำไปหมุนสภาพคล่องชั่วคราวเท่านั้น ส่วนที่เหลือผู้ฝากก็มักจะฝากไว้ระยะยาวหน่อยเพื่อสะสมความมั่งคั่ง ทำให้ธุรกิจธนาคารเริ่มมองเห็นว่าทองคำที่ถูกฝากไว้นิ่งๆ น่าจะเอาไปปล่อยเช่า หรือปัจจุบันเรียกว่าปล่อยกู้นั่นเอง ซึ่งธนาคารก็จะคิดค่าธรรมเนียมในการกู้ทองคำมาเป็นรายได้อีกทาง
 
ใบฝากทองคำ หรือเงินกระดาษรุ่นแรกนั้นก็ถูกใช้ในการแลกเปลี่ยนได้เช่นกัน เพราะเริ่มได้รับความเชื่อถือว่าใบกระดาษดังกล่าวสามารถนำไปขึ้นทองคำได้ที่ธนาคาร อย่างไรก็ดี ปัญหาก็เริ่มเกิดขึ้นเมื่อธนาคารก็เริ่มมีการปล่อยกู้กินดอกเบี้ยมากยิ่งขึ้นโดยออกใบกระดาษกู้ทั้งๆ ที่ทรัพย์สินที่เข้ามาฝากมีไม่พอ เงินเฟ้อก็เริ่มเกิดขึ้น เพราะธนาคารออกใบกู้มากกว่าสินทรัพย์เงินฝากที่ตัวเองได้มาในภาวะที่จะเกิดสงคราม ประเทศ หรือกลุ่มคนที่จะก่อสงครามก็จำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์เพื่อจ้างทหาร เพื่อซื้อเสบียง ฯลฯ ทำให้ต้องกู้ ผู้ปล่อยกู้ก็ปล่อยกู้เกินตัวโดยโลภเพราะหวังดอกเบี้ย สุดท้ายผู้ฝากพอมาไถ่ถอนทองคำที่ตัวเองฝากไว้เพราะกลัวสงครามสุดท้ายก็ไม่มีเงินให้ไถ่ถอน  

“ฟังดูระบบเงินกระดาษน่าจะหมดความน่าเชื่อถือไปแล้ว เพราะตั้งแต่ยุคที่มีการนำทองคำมาฝากแล้วออกเป็นตั๋วกระดาษล้มเหลวไป มนุษย์ก็ประสบปัญหาเรื่องการเบี้ยวหนี้ เพราะผู้ปล่อยกู้สามารถคิดค้นวิธีที่ทำให้กระดาษมีมูลค่าเหมือนทองคำ หรือโลหะมีค่า อย่างไรก็ดี คนที่มีเครดิตดี คนที่มีอำนาจ จะทำอะไรคนก็เชื่อถือ เพราะฉะนั้นประเทศไหนที่ชนะสงครามก็จะมีอำนาจเหนือผู้อื่น สกุลเงินของประเทศนั้นๆ ก็จะยิ่งใหญ่กว่าใคร”

ปัจจุบัน เราใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักสากลของโลก และแน่นอนว่าก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1-2 ดอลลาร์สหรัฐไม่ได้เป็นสกุลเงินหลัก ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ทำไมสกุลเงินดอลลาร์จึงกลายมาเป็นสกุลเงินหลักของโลก และทำไมธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงปั๊มเงินแบบไม่ต้องมีสินทรัพย์อะไรสนับสนุนเลย ตอนที่ 3 เราจะมาคุยเรื่องนี้กัน

สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น