ธปท. ปรับลดคาดการณ์ “จีดีพี” ปีนี้เหลือโตแค่ 0.8% จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.5% ส่วนปีหน้าคาดโตได้ 4% หลังประเมิน ศก.โลกชะลอตัวสูงกว่าที่คาดเอาไว้ ส่วนการที่ ศก.ไทยขยายตัวต่ำต่อเนื่อง 2 ปีนั้นยอมรับว่า มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ไม่ทำให้เกิดภาวะถดถอย
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2557 และแนวโน้มปี 2558 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม ดังนั้น ธปท.จึงได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปี 2557 เหลือร้อยละ 0.8 จากร้อยละ 1.5 และปี 2558 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4 จากเดิมที่จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.8 หลังจากที่จีดีพีไตรมาส 4 ปี 2557 โตได้ร้อยละ 2.7 และคาดไตรมาส 1 ปี 2558 จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 4
โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้ส่งออกปี 2557 ติดลบร้อยละ 0.5 จากเดิมที่คาดว่าจะไม่ขยายตัวเลย และทำให้ปี 2558 ขยายตัวได้ร้อยละ 1 จากเดิมที่จะขยายตัวได้ร้อยละ 4
นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรในประเทศยังคงตกต่ำทำให้รายได้เกษตรกรลดลง ภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงทำให้การบริโภคค่อยๆ ฟื้นตัวโดยเติบโตเพียงร้อยละ 0.8 และปีหน้าขยายตัวเพียงร้อยละ 3.1 ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าที่คาด ทำให้การลงทุนภาคเอกชนล่าช้าไปด้วย โดยการลงทุนภาครัฐติดลบร้อยละ 5.9 จากเดิมที่มองว่าจะโตร้อยละ 3.3 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนติดลบร้อยละ 0.8 และคาดว่าการลงทุนภาครัฐจะดีขึ้นในปีหน้าขยายตัวร้อยละ 11 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็จะโตตามที่ร้อยละ 7.2
อย่างไรก็ตาม ยังคาดหวังว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจะทำให้การบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตลดลง แต่ก็จะมีผลกดดันทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มต่ำ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2 แต่ยืนยันว่าไทยจะไม่เกิดปัญหาเงินฝืด
อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำต่อเนื่อง 2 ปีนั้น นายเมธี ยอมรับว่า มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่าย และเร่งลงทุนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และนโยบายการเงินยังผ่อนคลายเพื่อดูแลเศรษฐกิจ