xs
xsm
sm
md
lg

“ซีไอเอ็มบี” คาดปี 58 ศก.ไทยฟื้นแบบ “ยูเชฟ” จีดีพีโตแค่ 3.3% เตือนวิกฤต “รูเบิล-น้ำมัน-ค่าเงิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธ.ซีไอเอ็มบี ไทย” มองแนวโน้ม ศก.ไทย ปี 58 เติบโตแบบ “ยูเชฟ” ซึ่งไทยยังต้องเผชิญต่อความท้าทายทั้งจากความผันผวนของ ศก. ตลาดเงิน และตลาดทุน โดยมีปัจจัยเสี่ยง ตปท. เป็นตัวแปรหลัก พร้อมหั่น “จีดีพี” เหลือเติบโตแค่ 3.3% ระบุการลงทุนภาครัฐล่าช้า และการส่งออกแผ่วกว่าที่คาดไว้ เตือนวิกฤตเงินรูเบิล ราคาน้ำมัน และผลกระทบค่าเงิน

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2558 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะรูปตัวยู (U) แต่ยังเผชิญต่อความท้าทายจากความผันผวนของเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน โดยมีปัจจัยต่างประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ซึ่งธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเหลือโตร้อยละ 3.3 จากเดิมคาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา

โดยสาเหตุหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้การลงทุนภาครัฐเหลือขยายตัวร้อยละ 7.9 จากร้อยละ 8.5 ซึ่งรัฐบาลต้องสร้างความเขื่อมั่นว่า แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ มีรัฐบาลใหม่ แต่โครงการลงทุนภาครัฐยังเดินหน้าต่อเป็นการลงทุนระยะยาว และรัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายขยายฐานการผลิต และการลงทุนในช่วงที่สภาพคล่องยังมีสูง และดอกเบี้ยยังต่ำ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ประเทศไทยเผชิญปัญหาการบริโภคที่เติบโตต่ำจากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 4 เหลือโตเพียงร้อยละ 2.6 เพราะยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงกดดัน

ส่วนภาคการส่งออก คาดว่าจะขยายตัวน้อยกว่าที่คาด เหลือโตร้อยละ 3.6 จากเดิมคาดโตร้อยละ 6.1 โดยไทยยังมีปัญหาโครงสร้างสินค้าส่งออกที่ผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่ำ และสินค้าเกษตร ทำให้การส่งออกมีปัญหา ประกอบกับค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค จึงไม่ได้ช่วยให้เกิดความสามารถทางการแข่งขันต่อสินค้าส่งออกไทย ดังนั้น ต้องจับตามองแนวโน้มในปี 2558 ว่าอาจจะมีความเสี่ยง เกิดสงครามค่าเงินในภูมิภาคอาเซียน หากประเทศในกลุ่มอาเซียนใช้นโยบายลดดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่ามากระตุ้นการส่งออก เพื่อสู้กับญี่ปุ่นที่ค่าเงินเยนอ่อนค่า ทำให้ประเทศที่ส่งออกสินค้าคล้ายกับญี่ปุ่นเสียความสามารถทางการส่งออก แต่เชื่อว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนงฺ) คงนโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่า เพราะเท่ากับว่าประเทศไทยจะเป็นผู้จุดชนวนสงครามค่าเงิน แต่เชื่อว่า ธปท. จะใช้วิธีการผ่อนปรนการลงทุนไปต่างประเทศของเอกชนแทน โดยประเมินเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปลายปี 2558 แต่ก็เป็นห่วงว่า หากเกิดสงครามค่าเงินในภูมิภาคอาจจะได้เห็นเงินบาทที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังเชื่อว่าครึ่งปีแรก คณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2 แต่มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ในครึ่งปีหลัง หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่คาด เพื่อดูแลไม่ให้เงินทุนไหลออก

ส่วนปัญหาวิกฤตรัสเซีย ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อไทย แต่ต้องระวังผลทางอ้อม หากยุโรปซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของรัสเซียชะลอตัว ทำให้การส่งออกของไทยไปยุโรปลดลง โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ไปรัสเซีย อาจได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปีนี้ แต่สินค้าเกษตรยังคงเติบโตได้ในปีหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียที่ลดลงต่อเนื่องยังกดดันตลาดท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะที่พัทยา และภูเก็ต

อีกปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มขุดเจาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ รวมทั้งราคาสินค้าเกษตร เช่น ยาง ปาล์ม อ้อย และข้าว อาจลดลงตามราคาน้ำมัน และส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่ำต่อไป ซึ่งอุตสาหกรรมค้าปลีกในต่างจังหวัดอาจได้รับผลกระทบไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น