ตามคาด! ที่ประชุม กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตรา ดบ.นโยบายที่ระดับ 2% ระบุ นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนในปัจจุบันเพียงพอต่อการดูแล ศก. ซึ่งคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวในช่วงปี 58 และสอดคล้องต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 8/2557 วันนี้ (17 ธ.ค.) ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของปี ที่ประชุมฯ มีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.00% ต่อปี โดยมี 2 เสียงที่ต้องการให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี
ทั้งนี้ กรรมการ กนง. ส่วนใหญ่ประเมินว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนในปัจจุบันเพียงพอต่อการดูแลเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวในช่่วงปี 2558 และสอดคล้องต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ดี กรรมการ 2 ท่านเห็นว่า ควรผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยเพิ่มแรงสนับสนุนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงกว่าคาด ในสภาวะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น และเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่อต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าปีหน้าสัญญาณเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้น แต่จะต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ เพราะแรงกระตุ้นจากการลงทุนภาครัฐน้อยกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งส่งผลไปยังการลงทุนภาคเอกชนให้ชะลอตัวลงตามไปด้วย ขณะที่การส่งออกยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น แต่ยังต่ำกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม กนง.เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งขึ้น โดยปัจจัยสำคัญ คือ การเบิกจ่ายภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่นโยบายการเงินจะผ่อนปรนมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาระยะต่อไป โดย ธปท.จะประกาศการปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2557 และ 2558 ใหม่วันที่ 26 ธันวาคมนี้ ในการรายงานนโยบายการเงิน
นายเมธี ยังระบุว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงก็ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงตาม และส่งผลไปยังอัตราเงินเฟ้อให้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอีก แต่ไม่ติดลบ หรือเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่ง ธปท.ยังคงติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อในระยะต่อไปว่าจะต่ำลงเพียงใด
ส่วนภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นที่ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงแรงตลอดทั้งสัปดาห์นั้น นายเมธี กล่าวว่า กนง.ได้หารือในประเด็นเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยยอมรับว่า พบสัญญาณการเก็งกำไรของหลักทรัพย์บางตัวในตลาดหุ้น ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดูแลอยู่ ขณะเดียวกัน การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำทำให้ประชาชนออมลดลง และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น และสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น จึงเกิดการเก็งกำไรสูง