นักเศรษฐศาสตร์ประเมินทิศทางเศรษฐกิจปี 2558 ยังได้แค่คืบคลาน หวั่นปัญหาเศรษฐกิจรัสเซียเป็นเชื้อสำคัญกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก จับตาแรงกดดันน้ำมันในตลาดโลก และการชำระหนี้เงินกู้ไปยังยุโรป แนะภาครัฐลงทุนสร้างความมั่นใจให้เอกชน พร้อมประเมิน กนง. อาจปรับดอกเบี้ย 1-2 ครั้ง และแรงกดดันเงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลต่อสกุลเงินทั่วโลก ขณะที่ สศค. มองตลาดเงินตลาดทุนปีหน้าจะมีความผันผวนสูงมาก เพราะการดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกันหลายภูมิภาค
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจปี 58″ จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า ตามศักยภาพเศรษฐกิจไทยปกติควรขยายตัวประมาณร้อยละ 4 ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ย 2 ปีไม่ถึงร้อยละ 2 จึงยอมรับว่าการส่งออกยังส่งผลต่อไทย เพราะยุโรปจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ไทย ญี่ปุ่นยังมีปัญหา สหรัฐฯ ฟื้นตัวไม่ได้มาก การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของภาพรวมเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจระยะยาว คือ การเร่งเดินหน้าประมูลการสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ เพราะจะส่งผลต่อความมั่นใจภาคเอกชนระยะยาว
นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีหน้ามองว่าตลาดเงินตลาดทุนจะมีความผันผวนสูงมาก เพราะการดำเนินนโยบายการเงินแตกต่างกันหลายภูมิภาค หลังสหรัฐฯ ยังเดินหน้าปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย จึงมีเงินไหลกลับเข้าสหรัฐฯ ขณะที่ญี่ปุ่น หลังการเลือกตั้งต้องอัดฉีดเงินออกสู่ระบบสูงมาก ขณะที่กลุ่มยุโรป ยังเสียงแตกว่าจะอัดฉีดเงินมากน้อยเพียงใด แต่ที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ ปัญหาเศรษฐกิจรัสเซีย จะเป็นตัวการสำคัญส่งผลปัญหาต่อเศรษฐกิจโลกปีหน้า เพราะภาระหนี้จะครบกำหนดจำนวนมากในปีหน้า ธนาคารกลางหลายประเทศเข้าไปลงทุนในรัสเซีย จึงอาจเห็นสาเหตุสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในปีหน้า
นายทรงธรรม ปิ่นโต ที่ปรึกษางานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเเศรษฐกิจต้องเน้นดำเนินนโยบายระยะปานกลาง และระยะยาว โดยยอมเจ็บในช่วงสั้น ด้วยการเร่งพัฒนาระบบรางรถไฟฟ้า 10 เส้นทางรอบกรุงเทพฯ การเลิกบิดเบือนราคาสินค้าเกษตร การปรับโครงสร้างพลังงาน เพราะที่ผ่านมา ใช้เงินแทรกแซงนับแสนล้านบาท ที่ผ่านมา ไทยเสียโอกาสไปมากแล้ว มองว่าเศรษฐกิจปีหน้ายังพอมีสัญญาณดีขึ้นบ้าง
สำหรับรัสเซีย เมื่อมีปัญหาการชำระเงินจากการออกพันธบัตรคืนให้แก่ประเทศต่างๆ เมื่อไม่สามารถรักษาสถานการณ์ทางการเงินได้ดีจะถูกโจมตีค่าเงินของรัสเซียได้ ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยระบบการดูแลรักษาสเถียรภาพทางเงินบาทยังมีความมั่นคง คาดว่ายังดูแลค่าเงินบาทได้มั่นคง
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าสำนักงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร (บล.) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังอาจขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 2 ทำให้จีดีพีทั้งปีไม่ถึงร้อยละ 1 เพราะเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกสูงมาก ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวมาก และปี 2558 เมื่อเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีย่อมทำให้จีดีพีของไทยไม่สูงมาก จึงมองว่าขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3-5 อีกทั้งมูลค่าทรัพย์สินในมือของประชาชนลดลง เช่น รถเก่าที่ใช้อยู่หากนำไปให้เต็นท์รถประเมินมูลค่าจะให้ราคาถูกกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ถึงร้อยละ 30 ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อจีดีพีปีหน้า
สำหรับปัญหาเศรษฐกิจของรัสเซีย มาจากธนาคารกลางหลายประเทศในยุโรป ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทขุดเจาะน้ำมันในรัสเซีย เพื่อเดินหน้าผลิตน้ำมันหวังให้ราคาน้ำมันดิบโลกลดลง เพื่อหวังทำลายบริษัทเชลล์ออย ดังนั้น เมื่อรัสเซียมีปัญหาย่อมกระทบต่อการชำระคืนเงินกู้ไปยังยุโรปสูงมาก
ดังนั้น ปีหน้าจึงยังเป็นห่วงนโยบายการคลังของไทยในการปฏิรูปภาษีด้วยการเตรียมขยับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มปีหน้า การปรับเพิ่มราคาพลังงาน การจัดเก็บภาษีมรดก การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตหลายประเภท
นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรินิตี้ จำกัด กล่าวว่า เมื่อแนวโน้มน้ำมันดิบตลาดโลกปรับลดลง จึงเป็นเหตุผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1-2 ครั้ง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ของสหรัฐฯ อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไตรมาส 2-4 ซึ่งย่อมเป็นแรงกดดันสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นไปอีก แม้จะแข็งค่าแล้วในปัจจุบัน และอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 2 ในปี 2559
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป ยังต้องอัดฉีดเงินออกสู่ระบบหวังแก้ปัญหาเศรษฐกิจอีก 1 ล้านล้านยูโร รวมทั้งธนาคารกลางญี่ปุ่นด้วย ซึ่งยังอัดฉีดเงินออกสู่ระบบ สำหรับปัญหารัสเซีย มองว่าทุนสำรองของประเทศลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1993 นักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามาลงทุนในประเทศไทยน้อยลง ดังนั้น ปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปจะเกิดขึ้นจากปัญหาของรัสเซียสูงมาก