ปธ.แบงก์กรุงเทพ ประเมินจีดีพีปี 58 โตได้ 3-4% แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องจากไทยยังมีปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และการดำเนินนโยบายประชานิยมของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัว คาดปี 59 น่าจะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ ส่วนปัจจัยญี่ปุ่นจะประกาศยุบสภาในเร็วๆ นี้ เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจเอเชีย เนื่องจากตลาดมีการรับรู้ข่าวสารมาพอสมควรแล้ว
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBL เปิดเผยว่า คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพีของไทยปีหน้าจะขยายตัวได้ 3-4% ซึ่งยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องจากไทยยังมีปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการดำเนินนโยบายประชานิยมของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ธนาคารคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาโตได้ตามศักยภาพในช่วงปี 59
“ปีหน้าทั้งปี ก็คาดว่าจะโตได้ไม่มาก มันโตจากฐานที่ต่ำ แต่ยังถือว่าต่ำกว่าศักยภาพ เพราะหนี้ครัวเรือนยังเป็นแรงกดดัน ส่วนปี 59 คาดว่าจะสามารถกลับมาโตได้ตามศักยภาพ แต่ทุกฝ่ายห้ามเข้าไปเติมหรือสร้างประชานิยมเพิ่ม”
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ภาคการส่งออกที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามตลาดโลก เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว การส่งออกประเทศอื่นๆ เริ่มฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่การส่งออกของไทยยังคงติดลบ สะท้อนว่าผู้ประกอบการจะต้องเร่งพัฒนาสินค้าให้กลับมาเป็นที่ต้องการให้ได้
นายโฆสิต ยังกล่าวถึงกรณีที่นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่นจะประกาศยุบสภาในเร็วๆ นี้นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจเอเชีย เนื่องจากตลาดมีการรับรู้ข่าวสารมาพอสมควรแล้ว ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าแม้จะมีการยุบสภา แต่นายอาเบะก็จะได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามารับตำแหน่งอีกครั้ง
นายโฆสิต ยังกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อุตสาหกรรมไทยภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยระบุว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะเป็นการเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังไม่ชัดเจน แต่เออีซีจะเป็นฐานการผลิตระดับโลกในไม่ช้าและเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ก่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น
ส่วนการเป็นฐานการผลิตของโลกอีกแห่งหนึ่งเพิ่มจากจีนนั้น ขณะนี้นักลงทุนมองว่า ประเทศไทยเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ต่างจากอดีตที่นักลงทุนจะเลือกไทย สำหรับตลาดเออีซี มีขนาดใหญ่ 600 ล้านคนก็จริง แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องแข่งขันได้ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพหรือผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมกับการออกไปพัฒนาตลาดให้เข้าใจ ติดใจสินค้าและบริการจากประเทศไทย อย่างไรก็ตาม โอกาสการลงทุนในเออีซีมีความเป็นไปได้หลายมิติ นักลงทุนไทยต้องรีบเข้าไป หากช้าจะหมดโอกาส เพราะตลาดเต็ม เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้าไปลงทุนตามโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ฮอนด้าที่เข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น
นายโฆสิต กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน รถไฟ ไม่ได้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ไทย เพราะทุกชาติสามารถเข้ามาใช้ได้ ส่วนการลดภาษีมีมานานแล้ว แต่มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษียังคงมีอยู่ ขณะนี้ชัดเจนว่าประเทศอินโดนีเซียประกาศว่าจะไม่ยอมให้ใช้เป็นตลาดเท่านั้นต้องการเป็นซัปพลายเชนของภูมิภาคและโลก
ส่วนการเข้าไปลงทุนเพื่อคลี่คลายข้อจำกัดของภาคอุตสาหกรรมไทย อาจใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบหรือออกไปใช้แรงงานที่มีค่าแรงต่ำกว่าของซัปพลายเชนได้ อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจไทยยังออกไปลงทุนน้อยมาก ซึ่งการลงทุนจะยากลำบากในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และต้องเสี่ยงอย่างมีเหตุผล ขณะนี้ธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางของไทยเริ่มออกไปแล้ว เหลือเพียงเอสเอ็มอียังออกไปลงทุนน้อยมาก
ทั้งนี้ นักธุรกิจไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมในการออกไปลงทุน เพราะไม่ให้ความสำคัญในระยะยาว เช่น การไม่สร้างบุคลากรเตรียมพร้อมเอาไว้ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจต้องออกไปหาลู่ทางการลงทุนเองจนกลายเป็นข้อจำกัด ซึ่งปกติแล้วจะต้องใช้เวลาในการสร้างความมั่นคงให้กับการลงทุนในต่างประเทศอย่างน้อย 2 ปี