บมจ.ไฟร์วิคเตอร์ หรือ FIRE เตรียมที่จะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป จำนวน 90 ล้านหุ้น ในราคา IPO ที่ 3 บาท/หุ้น ราคาพาร์ 0.50 บาท/หุ้น โดยจะทำการเปิดให้ผู้สนใจได้เข้าจองซื้อในวันที่ 5-7 พฤศจิกายนนี้ และจะเข้าทำการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้น mai ภายในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ลงนามแต่งตั้งให้ บล.ธนชาต และ บล.เคที ซิมีโก้ เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่าย ตั้งเป้าระดมทุนโดยจะนำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อใช้ขยายสาขาใหม่ที่ระยอง เน้นระบบรักษาความปลอดภัยด้านอัคคีภัย โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีในนิคมอุตสาหกรรม และการจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตลอดจนถึงซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย
นายวิรัฐ สุขชัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไฟร์วิคเตอร์ หรือ FIRE กล่าวว่า บริษัทฯ เตรียมที่จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไป หรือ IPO จำนวน 90 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 3 บาท โดยเตรียมที่จะเปิดให้ประชาชนที่มีความสนใจเข้าจองซื้อภายในวันที่ 5-7 พฤศจิกายน และจะเข้าทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหุ้น mai ในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ โดยบริษัทฯ ได้ลงนามแต่งตั้ง บล.ธนชาต และ บล.เคที ซีมิโก้ เป็นแกนนำในการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 17% ต่อปี ซึ่งบริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าว่าเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วจะมีอัตราเติบโตที่ 10-15% โดยที่ผ่านมา ได้เน้นการทำตลาดผ่านทางเอกชนที่เป็นโครงการอสังหาฯ เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การขายในส่วนของรัฐจะมีน้อยซึ่งจะขายผ่านบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก แต่หลังเข้าตลาดแล้วบริษัทฯ ได้วางแผนเน้นการทำตลาดโครงการของรัฐมากขึ้น เช่น โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 และโครงการโทรคมนาคมระบบราง และโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่อื่นๆ ของรัฐบาล โดยตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และขยายงานขายเพิ่มเติมรองรับการเปิดเสรีอาเซียน นอกเหนือจากพม่า และกัมพูชาที่ได้ไปทำตลาดไว้แล้ว แต่ยังเป็นจำนวนน้อย
“บริษัทฯ จะนำเงินลงทุนที่ได้ไปขยายสาขาใหม่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะเน้นการให้บริการด้านอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยด้านอัคคีภัยโดยเฉพาะ แก่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้งหมด ซึ่งเงินลงทุนในการขยายสาขาที่ระยอง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในไตรมาส 2 ของปีหน้า ขณะที่เงินระดมทุนที่ได้จากการขายหุ้น IPO ส่วนอื่นๆ นั้นจะนำไปซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ ตลอดจนถึงการชำระหนี้บางส่วน และส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัทเพื่อใช้ในการลงทุนระยะ 2-3 ปี”
ทั้งนี้ สัดส่วนการถือครองหุ้นหลัง IPO จากเดิมที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม คือ ครอบครัวชาญณรงค์ และครอบครัวสุขชัย ในอัตรา 39% หลังการเข้าซื้อขายหุ้น IPO แล้วจะลดลงเหลือ 29% ส่วนหุ้น IPO จะอยู่ที่ 25% ขณะที่ในส่วนอื่นๆ นั้นจะเป็นของผู้มีอุปการคุณ และพนักงาน