xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ญี่ปุ่นใช้คิวอีเป็นประโยชน์ต่อไทย นายแบงก์หนุน รบ. ใช้ลงทุนภาครัฐกระตุ้น ศก. ฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“บัญฑูร ล่ำซำ” หนุนรัฐบาลใช้การลงทุนภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ และเดินหน้าแก้ปัญหาเกษตรกรที่เผชิญปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ พร้อมมองการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของญี่ปุ่น จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ

นายบัญฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ เพื่อใหัเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยปีหน้าให้ขยายตัวได้ร้อยละ 4 ซึ่งมองว่าเป็นเป้าหมายกลางๆ ไม่ถึงกับยากเกินไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายงบประมาณด้วย

ส่วนแนวทางการทำงานของรัฐบาลมองว่า มีความพยายามในการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพราะไทยมีประชากรที่ทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของญี่ปุ่น นายบัญฑูร มองว่า จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยมาตรการนี้ถือเป็นแนวทางที่จำเป็นของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้พื้นตัวกลับมา หลังจากดำเนินนโยบายทางภาษีผิดพลาดทำให้การบริโภคชะลอตัวลงไปมาก

นายบัณฑูร กล่าวหลังร่วมกับผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย ลงนามกับผู้แทนธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาครวม 35 แห่ง จาก 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม และ สปป.ลาว สร้างพันธมิตรธนาคารในอาเซียน+3″ หรือ ASEAN+3 Banking Alliance เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรมข้ามแดน รวมทั้งยกระดับการให้บริการของธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะมีความร่วมมือกันทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการพัฒนาบุคลากรทางการเงิน ผ่านโครงการ Taksila (ตักศิลา) ASEAN Banking Forum ซึ่งเป็นการอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านการเงินให้มีศักยภาพโดดเด่นในอุตสาหกรรมการเงินในภูมิภาคเอเชียผ่าน 2 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรภาวะผู้นำ สำหรับผู้บริหารระดับสูง และหลักสูตรความเชี่ยวชาญด้านการธนาคาร สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการธนาคารและผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีที่จะเกิดขึ้นปลายปี 2558 ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายด้านเงินทุน สินค้า และบริการอย่างเสรี ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน+3 ทั้งการค้าและการลงทุนที่จะมีเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น