xs
xsm
sm
md
lg

ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ เตรียมเทรดในตลาด 30 ต.ค.นี้ มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่” พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 30 ต.ค.นี้ เป็นวันแรก มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับที่ดี หลังมั่นใจในศักยภาพของบริษัทฯ โดยมีความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ในราคา 3.90 บาทล้นทะลัก ด้านผู้บริหาร TSE ลั่นเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมเข้าร่วมเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จากภาครัฐเพิ่มเติม ขณะที่ บล.บัวหลวง ที่ปรึกษาทางการเงิน ชี้ทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนไทยสดใส รับภาครัฐตั้งเป้าภายในปี 2564 จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีก 3,000 เมกะวัตต์

ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ภาครัฐตามนโยบายการสนับสนุนการผลิต และการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของสำนักงานนโยบายและพลังงาน กระทรวงพลังงาน เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เป็นวันแรกในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 โดยใช้ชื่อย่อการซื้อขายว่า ‘TSE’ หลังการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 450 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท ในราคาจองซื้อหุ้นละ 3.90 บาท ระหว่างวันที่ 21-24 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมั่นใจว่า หุ้น TSE จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์มุ่งเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเลือกใช้เทคโนโลยี และที่ตั้งทำเลที่เหมาะสมเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดี และมั่นคงในระยะยาว รวมถึงขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เช่น พลังงานลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ รวมถึงขยายการลงทุนผลิตไฟฟ้า
จากพลังงานแสงอาทิตย์ไปต่างประเทศในรูปแบบ Solar Farm และ Solar Rooftop เพื่อก้าวสู่บริษัทฯ ชั้นนำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย

ปัจจุบัน บริษัทฯ เป็นผู้ผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีโครงการที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด 25 โครงการ รวม 98.5 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ โครงการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าความร้อนจากแสงอาทิตย์ในระบบรางรวมแสง (Solar Thermal) ซึ่งได้จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว 1 โครงการ ด้วยกำลังการผลิตและเสนอขาย 4.5 เมกะวัตต์ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบโฟโต้โวลตาอิก หรือโซลาร์เซลล์ (โรงไฟฟ้า PV) ในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วไปซึ่งติดตั้งบริเวณพื้นดิน หรือ Solar Farm โดยร่วมทุนกับบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทหลักด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. จำนวน 10 โครงการ ในจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรี รวม 80 เมกะวัตต์ ซึ่งผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ได้ครบทั้ง 10 โครงการ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพาณิชย์ (Commercial Rooftop) จำนวน 14 โครงการ โครงการละ 1 เมกะวัตต์ รวม 14 เมกะวัตต์ โดยเป็นพันธมิตรกับโฮมโปร และเดอะมอลล์กรุ๊ป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ครบทุกโครงการภายในสิ้นปีนี้ ทำให้บริษัทฯ ถือเป็นผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดของไทยในปัจจุบัน

“เรามีความมั่นใจในศักยภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่มีความพร้อมในการรุกขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อผลักดันบริษัทฯ ให้ก้าวสู่บริษัทชั้นนำในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย” ดร.แคทลีน กล่าว

สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ที่ประมาณ 1,755 ล้านบาท จะนำไปใช้ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เช่น ลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่น การให้บริการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และจัดหาอุปกรณ์ อีกส่วนหนึ่งจะนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาว และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป

ด้าน นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทย มีอนาคตที่สดใสจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม โดย
ภาครัฐได้เพิ่มเป้าหมายของพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2555-2564 ให้เป็นร้อยละ 25 ของกำลังการผลิต และล่าสุด ยังได้อนุมัติปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2564 ขึ้นอีก 4,726 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มเป็น 13,927 เมกะวัตต์ ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีเป้าหมายไฟฟ้าอยู่ที่ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 ที่เชื่อว่าภาครัฐจะพิจารณาเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ด้วยจุดแข็งของ TSE ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งในการทำธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย รวมถึงมีแผนขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจของ TSE และความมุ่งมั่นเพื่อก้าวสู่ผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และเสริมสร้างความมั่นใจของนักลงทุนต่อทิศทางการดำเนินงาน และผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ตลอดจนการเติบโตต่อไปในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น