ธปท. ชี้ค่าเงินบาทอ่อนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นมา ส่วนกรณีสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 3 ค่ายใหญ่ คงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ถือเป็นปัจจัยเสริมให้ตลาดการเงินไทยมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุน โดยฉพาะต่างชาติที่เข้าลุยซื้อพันธบัตรไทย
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทของไทยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อ่อนค่า เป็นผลมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นมาเล็กน้อย หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 2/57 ขยายตัวได้ถึง 4.6% สูงกว่าที่ประมาณการไว้ที่ในระดับ 4.2% ซึ่งไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศไทย
เนื่องจากคาดการณ์กันอยู่แล้วว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะไม่ได้ดีนัก โดยเฉพาะการส่งออกที่ชะลอตัว ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็จะไปมีผลต่อภาพรวมในปี 58 และตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 1.23% เป็นการแข็งค่าในทิศทางเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดีย
นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออีก 3 ค่ายใหญ่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้ตลาดการเงินไทยมีความน่าสนใจในสายตานักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตร ธปท.ในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี มีผู้สนใจเข้าลงทุนมากกว่าวงเงินเสนอขายแต่ละครั้งเฉลี่ยประมาณ 1.5-2 เท่า
ขณะเดียวกัน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีความเห็นสอดคล้องกันว่า พื้นฐานเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินของไทยไม่ได้ถูกกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา และหลังจากการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ความเชื่อมั่น และเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับสถานะด้านอื่นๆ เช่น เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทยต่อปัจจัยเสี่ยง และหนี้ของรัฐบาลที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ การคงอันดับประเทศไทยของฟิทช์ เรทติ้ง เป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังคงมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยการประเมินมีการให้น้ำหนักกับประเด็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจระยะสั้น