xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ยุติคว่ำบาตรทางการค้ากับประเทศที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ ส่งผลดีต่อ TUF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส สรุปภาพรวมกรณีที่สหรัฐฯ ไม่คว่ำบาตรสินค้าประมงส่งออกจากไทย ส่งผลดีต่อ บมจ.ไทยยูเนี่ยนโฟร์เซ่น หรือ  TUF

ขณะนี้ครบกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่สหรัฐฯ ประกาศว่า จะคว่ำบาตรการค้ากับประเทศที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และเวเนซุเอลา (สหรัฐฯ ได้ปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ สู่ระดับ Tier 3 ซึ่งเป็นอันดับต่ำสุด) ปรากฏว่าล่าสุด สหรัฐฯ เปลี่ยนใจจะไม่คว่ำบาตรต่อประเทศเหล่านี้ เนื่องจากคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เข้าข่ายค้ามนุษย์ ต้องชี้แจงข้อมูลเพื่อให้พ้นผิด  ซึ่งสหรัฐฯ จะมีการพิจารณาทบทวนว่า จะหลุดพ้นจาก Tier 3 อีกครั้ง มี.ค. 2558 และรายงานอย่างเป็นทางการเดือน มิ.ย 2558

ฝ่ายวิเคราะห์ เชื่อว่า ประเด็นนี้น่าส่งผลบวกต่อแนวโน้มเชิงจิตวิทยาในกลุ่มอาหารและกลุ่มประมง และช่วยให้ไทยยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานักวิเคราะห์กลุ่มอาหารและเกษตรของ บล.เอเซีย พลัส มิได้ปรับเพิ่มต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หากมีการคว่ำบาตรทางการค้าเกิดขึ้น (หากมีการคว่ำบาตรทางการค้านั้น ผู้นำสหรัฐฯ สามารถสั่งระงับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ รวมทั้งยกเลิกความช่วยเหลือด้านการเงินจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แก่รัฐบาลของประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรที่ไม่ใช่ทางการค้า เช่น ตัดความช่วยเหลือในด้านการศึกษา หรือวัฒนธรรม)

นอกจากนี้ TUF ยังมีประเด็นบวกหนุนระยะสั้น หลังจากที่เข้าซื้อกิจการต่างประเทศ  2 แห่ง คือ  - King Oscar สัญชาตินอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาบรรจุกระป๋องที่มีประสบการณ์ยาวนาน 140 ปี  และ  - MerAlliance สัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตแซลมอนรมควันชั้นนำในยุโรป

โดยนักวิเคราะห์ของ บล.เอเซีย พลัส มีมุมมองบวกต่อการเข้าซื้อกิจการทั้งสองแห่ง เพราะนอกจากช่วยสร้างขุมพลังทางธุรกิจ (Business synergy) แล้ว ยังเป็นการขยายฐานส่งออกเพิ่มเติมในระยะยาวกล่าวคือ ขณะที่การเข้าซื้อ MerAlliance จะเน้นในด้านการพัฒนาธุรกิจแบรนด์ร่วมกับ MWB รวมถึงผลประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด อาทิ การรวมกันจัดหาวัตถุดิบ และการบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้ ขณะที่การซื้อกิจการ  “King Oscar” ซึ่งเป็นแบรนด์ ที่แข็งแกร่งมากในแถบประเทศสแกนดิเนเวีย ทำให้สามารถขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ โดยใช้เครือข่ายของ TUF ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก   
ทั้งนี้การเข้าซื้อกิจการทั้งสองแห่งน่าจะอยู่ที่ 5 พันล้านบาท ซึ่งเพียงพอสำหรับกระแสเงินสดจากภายในกิจการทั้งหมด เนื่องจาก TUF มีเงินสดคงเหลือ ณ สิ้นงวด 2Q57 ที่สูงถึง 8.4 พันล้านบาท อีกทั้งคาดว่า ภายหลังการควบรวมกิจการทั้งสองแห่งแล้ว จะส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิ และ Fair value ปี 2558  ปรับตัวสูงขึ้นราว 6% จากเดิมเป็นหุ้นละ  86 บาท เป็น  91.16 บาท  ขณะที่ Fair Value ปี 2557 อยู่ที่ 76 บาท อาจจะมี upside  จำกัด จึงแนะนำซื้อลงทุนข้ามปี
กำลังโหลดความคิดเห็น