S&P ชี้การเมืองไทยเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเครดิตประเทศ และระดับรายได้ของประชาชนที่ยังค่อนข้างต่ำ แม้ภาวะ ศก. ยังแข็งแกร่ง แต่ปัญหาการเมืองอาจทำให้พื้นฐานด้านเครดิตของประเทศไทยอ่อนแอลง อันอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ และการคลัง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการพัฒนาประเทศ
นาย Kim Eng Tan ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าทีมจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Standard & Poor’s เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคต่างประเทศที่แข็งแกร่ง หนี้ภาครัฐที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมา
แต่ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตของประเทศไทยยังถูกจำกัดจากภาวะทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน และระดับรายได้ของประชาชนที่ยังค่อนข้างต่ำ ภาวะการเมืองของประเทศไทยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้พื้นฐานด้านเครดิตของประเทศไทยอ่อนแอลง อันอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการคลัง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการพัฒนาประเทศ
น.ส.Geeta Chugh ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินของ Standard & Poor’s ได้สรุปความเสี่ยงที่สำคัญ และแนวโน้มของภาคสถาบันการเงินของไทยว่า ความเสี่ยงด้านเครดิตมีแนวโน้มคงที่ (Stable) และเชื่อว่าปัญหาทางการเมืองของไทยจะต้องใช้เวลานานพอควรในการแก้ไข ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทยในอนาคต
อย่างไรก็ดี ธนาคารในประเทศไทยที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตส่วนมากมีการดำรงระดับเงินกองทุนที่เพียงพอ และมีระดับของรายได้ที่เหมาะสมต่ออันดับเครดิตที่ได้รับอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารเหล่านี้อยู่ในสถานะที่เข้มแข็งต่อไปถึงปีหน้า
ด้าน น.ส.ไรทิวา นฤมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวถึงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ตามเกณฑ์ BASEL III ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยน่าจะมีความต้องการออกตราสารหนี้คล้ายทุนเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนตามแนวทางที่ถูกกำหนดในหลักเกณฑ์ใหม่