ระยะ 7-8 วันที่ผ่านมา ราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วง “ขาลง” โดยเฉพาะราคาทองในประเทศที่อ่อนตัวลงมาเคลื่อไหวค่อนข้างมาก โดยราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 19,550-19,650 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท ราคาต่ำสุดอยู่ระหว่าง 19,250-19,350 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท เป็นการเคลื่อนไหวตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ที่ระดับประมาณ 31.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นก็เริ่มอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 32.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ราคาทองคำในระยะนี้จะกลับไปเคลื่อนไหวตามการเก็งกำไรของกลุ่มกองทุนเฮดจ์ฟันด์ทั้งหมดที่มีอยู่ พยายามกดราคาทองให้ต่ำลงเพื่อเข้ามาซื้อเก็งกำไร ก่อนปล่อยให้ราคาเคลื่อนไหวตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่แท้จริง สังเกตได้จากราคาทองในตลาดโลกเคลื่อนไหวสวนทางกับเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตล์ การสู้รบในลิเบีย หรือแม้แต่การโจมตีพวกกบฏในอิรักของสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าระยะสั้น ราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,267.50-1,307.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 18,500-20,200 บาทต่อน้ำหนักทองคำหนึ่งบาท
ตั้งแต่ไตรมาส 1/57 เป็นต้นมา ปริมาณการบริโภคทองคำในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทองรูปพรรณ และทองคำแท่ง ปรับลดลงประมาณ 20-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากความสามารถในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง เห็นได้จากปริมาณหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประกอบกับเดือนเมษายนมีช่วงหยุดยาว และเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงเวลาเปิดภาคการศึกษา ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทำให้ทุกครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่ายพอสมควร ต่อด้วยเทศกาลเข้าพรรษา หมายถึงเริ่มฤดูเพาะปลูก เกษตรกรต้องมีเงินลงทุนทำนา ทำสวน ถึงแม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จะอนุมัติจ่ายเงินชดเชยให้แก่ชาวนาไปแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการบริโภคทองคำในประเทศปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการบริโภคทองคำแท่ง 99.99% ตั้งแต่ต้นปี 2557 ปรับตัวลดลงถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 มาจากการที่ร้านทองขนาดล็กบริเวณรอบกรุงเทพฯ เปิดเว็บเทรด Gold Online ขึ้นมาให้ลูกค้าซื้อ-ขายโดยไม่มีการส่งมอบทองคำ ซึ่งการซื้อ-ขายบนเว็บไซต์นั้นส่วนใหญ่ผู้ลงทุนมักจะ “ขาดทุน” หมายถึง “สูญเงินโดยเปล่าประโยชน์” จึงอยากให้ภาครัฐบาลเข้ามาพิจรณาลักษณะการลงทุนที่ “สั่งซื้อ” เมื่อราคาอ่อนตัวลง และ “สั่งขาย” เมื่อราคาปรับขึ้นในระดับที่พอใจ ว่า เป็นการกระทำเข้าข่าย “การพนัน” หรือไม่ ซึ่งหากไม่ดำเนินการควบคุมอย่างเข้มข้นตั้งแต่เนิ่นๆ พอสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนรากหญ้า กว่าจะเข้ามาเยียวยาแก้ไขน่าจะไม่ทันการณ์
***การที่ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2557 จน ณ ราคาปัจจุบันถูกกว่าราคาทองคำในช่วงปี 2556 มากพอสมควร ส่งผลให้ธนาคารกลางของหลายประเทศเข้าทยอยซื้อสะสมทองคำไว้อย่างเงียบๆ*** คาดว่ามีการสะสมรวมทั้งสิ้นประมาณ 118 ตัน โดยเฉพาะในไตรมาส 2/57 คิดเป็นสัดส่วนการถือครองเพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศในยุโรปทำข้อตกลงระหว่างกันว่าจะไม่ขายทองคำออกมาในระยะ 5 ปี นับตั้งแต่สิ้นเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป
หากจะไล่เรียงประเทศที่ครอบครองทองคำมากที่สุดในโลกอันดับ 1.สหรัฐอเมริกา 2.เยอรมนี 3.อิตาลี 4.ฝรั่งเศส และ 5.รัสเซีย ซึ่งขยับอันดับการถือครองทองคำขึ้นมาจากอันดับ 7 โดยอาศัยช่วงวิกฤตยูเครนสะสมทองคำเพิ่มมากขึ้นถึง 1,094.7 ตัน คิดเป็น 9.7% ของทุนสำรองทั้งหมดของรัสเซีย ผลข้างเคียงของการบริโภคทองคำมากผิดปกติของแต่ละประเทศ ส่งผลให้ราคาทองในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาถึง 28% ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการสะสมทองคำมากเกินปริมาณที่มีการตกลงกันไว้
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะดูเหมือนเริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากดัชนีการบริโภคเดือนมิถุนายนปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือน ส่วนดัชนีภาคบริการมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 90 สูงขึ้นถึง 4.8% และสูงที่สุดในรอบ 8 ปีก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดเองยังคงต้องติดตามภาพรวมเศรษฐกิจหลังจากการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการ QE ในเดือนตุลาคม ว่า จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลกอย่างไร
เนื่องจากจะมีปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโลกลดลง แม้จะมีหลายประเทศที่ยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการดำเนินการมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมานาน ส่งผลให้นักลงทุนหันไปเก็งกำไรกันในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง จนอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกระลอกหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยจากผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กในสหรัฐฯ มากกว่า 15,000 แห่งที่กังวลว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะย่ำแย่ลง โดยผู้ประกอบการเหล่านี้มองว่าการที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของตนมากถึง 28% เป็นอุปสรรคต่อยอดขาย 25% และข้อบังคับต่างๆ ของรัฐบาลเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจถึง 18%
ขออัปเดตสถานการณ์การคว่ำบาตรระหว่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และรัสเซีย นับตั้งแต่เกิดวิกฤตยูเครน ที่สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศใน EU มีมาตรการคว่ำบาตรภาคเศรษฐกิจ การค้า และการเงินรัสเซีย แต่กลับกลายเป็นว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลเสียต่อภาพเศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศใน EU เสียเอง โดยเฉพาะมาตรการโต้ตอบการคว่ำบาตรของรัสเซีย ที่สั่งห้ามนำเข้าสินค้าประเภทนม และเนื้อสัตว์จากสหรัฐฯ และสินค้าประเภทพืช ผลไม้จากสหภาพยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนสหรัฐฯ ถอนทุนออกจากกองทุนเปิด ETF ที่เข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ยุโรปมากถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม นักลงทุนสหรัฐฯ ถอนการลงทุนออกจากกองทุน ETF มากถึง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากคำนวณจากการลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2557 ที่นักลงทุนนำเงินเข้าไปลงทุนรวมประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้คาดว่า ณ ปัจจุบัน มีเงินลงทุนเหลือในกองทุน ETF ตลาดหุ้นยุโรป 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อประกอบกับภาวะที่เศรษฐกิจยุโรปหยุดชะงักในช่วงไตรมาส 2/14 ที่ผ่านมา เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าเศรษฐกิจยุโรปกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง
กลับมาวิเคราะห์เศรษฐกิจจีน ซึ่งส่ออาการ “ไม่ค่อยดี” ตั้งแต่กลางปี 2556 จากปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับรัฐบาลท้องถิ่น โดยเฉพาะในมณฑลหลัก ได้กู้เงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ผลประกอบการกลับออกมาไม่ค่อยดี ทำให้มีหนี้สินรวมกันมากกว่า 3 ล้านล้านหยวน กลายเป็นผลกระทบทำให้สถาบันการเงินในจีน ต่างรอลุ้นตัวเลขหนี้เสียที่จะปรากฏในช่วงครึ่งหลังปี 2557 อีกทั้งเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐผ่านนโยบายการลงทุน
ขณะเดียวกัน ตัวเลขภาคการผลิตประจำเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างมาก แม้แต่ตัวเลขการลงทุนในประเทศ อัตราการเติบโตของสินเชื่อ ยอดการขายบ้าน ก็ลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI (Purchasing Managers Index) ปรับตัวลดลงเหลือ 50.3 ลดลงจากเดือนกรกฎาคมซึ่งอยู่ที่ 51.7 และเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 3 เดือน แม้แต่ยอดคำสั่งซื้อใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าส่งออกก็ปรับลดลงทั้งหมด เป็นสัญญาณสะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างเห็นได้ชัด
แม้จะมีการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส 2/57 อยู่ที่ 7.5% ขยายตัวเล็กน้อยจาก 7.4% ในไตรมาส 1/57 แต่ก็เป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 18 เดือน และหากมองเป้าของรัฐบาลที่ต้องการเห็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 7.5% ต่อปี ถือว่ายังต้องทำงานกันอย่างหนักทีเดียว เบื้องต้นรัฐบาลประเมินความต้องการภายในประเทศ และผลักดันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นหนักไปที่ด้านการคลัง การเงิน และการบริหารจัดการ เช่น เพิ่มการลงทุนในระบบราง อาคารสงเคราะห์ และกลุ่มงานทางเลือก เช่น การเพิมสินเชื่อให้เกษตรกร และผู้เป็น “เจ้าของบ้าน” เป็นคร้งแรก รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจให้มากขึ้น เช่น อยู่ระหว่างเตรียมปรับลดวงเงินสำรองขั้นต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนลดดอกเบี้ยจำนองลง เป็นต้น ที่สำคัญ รัฐบาลจีนพุ่งเป้าให้การสนับสนุนไปที่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME เพื่อให้เป็นฐานสร้างการเติบโตให้แก่ประเทศ แม้แต่ในเขตการค้าเซี่ยงไฮ้ ก็อนุญาตให้ธุรกิจ SME มีโอกาสปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมของตนเอง จากที่เคยเน้นภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น มาสู่การลงทุนที่มุ่งเน้นคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการออกแบบมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เข้าถึง “สินเชื่อภาคธนาคาร” ได้ง่ายขึ้น ด้วยการเข้ามาตำหนิกลุ่มธนาคารที่เน้นการปล่อยสินเชื่อให้บริษัทขนาดใหญ่ มากกว่าผู้ประกอบการ SME ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องไปพึ่งสภาพคล่องจาก “ธนาคารเงา” ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า
ปิดท้ายกันที่การเมืองเช่นเคย ฉบับนี้ขอแสดงความยินดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย
เป็นระยะเวลา 3 เดือนที่ประเทศอยู่ภายใต้การดูแลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งก็เดินหน้าจัดระเบียบสังคมอย่างต่อเนื่อง ปราบกลุ่มนายทุนหน้าเลือด พวกรีดไถ วินมอเตอร์ไซค์ รถแท็กซี่ รถตู้โดยสาร พ่อค้าแม่ค้าแผงลอยบริเวณทางเท้า รวมกระทั่งการจอดรถบนผิวการจราจร เด็กแว้นที่สร้างความรำคาญช่วงกลางคืน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่เคยมีรัฐบาลใดกล้าดำเนินการมาก่อนเพราะติดปัญหาเรียกรับ และได้รับผลประโยชน์
ฉบับนี้อยากสรุปภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจ จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของอดีตนายกฯ คนที่ 28 เนื่องจากยังมีอีกหลายธนาคารที่ยัง “อมโรค” จากปัญหาขาดสภาพคล่อง หนักที่สุดคือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME Bank ที่ถึงขั้นต้องให้ธนาคารออมสินเข้ามาควบรวมกิจการ และดำเนินการแยกหนี้ดี หนี้เสียออกจากกัน และตั้งสำรองหนี้ให้ครบ 100% จากนั้นจะทยอยขายหนี้ที่ไม่มีหลักประกันออกไป เพื่อนำเงินกลับมาเป็นทุนหมุนเวียน โดยล่าสุด สำรวจพบว่า SME Bank มีหนี้เสีย 34,000 ล้านบาท และสินเชื่อหดตัวเหลือ 88,000 ล้านบาท
ส่วนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ไอ แบงก์ ก็มีปัญหาหนี้เสียเป็นจำนวนมากเช่นกัน รวมถึงปัญหาจำนวนพนักงานมากเกินปริมาณงาน ส่งผลให้เป็นธนาคารที่มีต้นทุนการดำเนินงานสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น ปัจจุบัน ไอ แบงก์ มียอดสินเชื่อคงค้างมากกว่า 100,000 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ถึง 35,000 ล้านบาท แม้จะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ 20,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีหนี้อีกจำนวนหนึ่งซึ่งปล่อยกู้ให้แก่ลูกหนี้ที่เป็น NPL มาจากธนาคารอื่น ทำให้มีการคาดการณ์ว่ายอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่แท้จริงนั้นสูงกว่ายอดที่ทางไอ แบงก์ สรุปออกมาถึง 50% ของสินเชื่อทั้งหมด
ทั้งนี้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า วัตถุประสงค์ของการตั้งไอ แบงก์ คือ เป็นธนาคารของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่จากการสำรวจปรากฏว่า ยอดหนี้ 100,000 ล้านบาทเป็นลูกหนี้ที่นับถือศาสนาอิสลามเพียง 10% เท่านั้น และก็ไม่ใช่ลูกหนี้กลุ่มที่เป็น NPL ส่วนลูกหนี้ที่เหลือเกิดขึ้นจากการแทรกแซงทางการเมืองทั้งสิ้น
ก็คงต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลที่จะต้องใช้ความพยายามชำระล้างประเทศให้สะอาดทุกภาคส่วน ปราศจากการคดโกง การคอร์รัปชัน ข้าราชการทำหน้าที่ให้คุ้มต่อภาษีของประชาชนที่ต้องเสียไปทุกเดือน ที่สำคัญอยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันกลุ่มสีเสื้อที่อยู่ต่างแดนกลับเข้ามาสร้างความเสียหายให้ประเทศไทยอีก