“สรรพากร” ชี้ แผนรีดภาษีมรดก ไม่กระทบคนจน-รายได้น้อย เร่งศึกษารายละเอียด ยอมรับ มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย โดยต้องชั่งน้ำหนักว่า จะเก็บจากกองมรดก หรือเก็บจากผู้รับมรดก ย้ำเรื่องความเป็นธรรมและคำนึงถึงผลกระทบคนระดับฐานราก
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การเก็บภาษีมรดกตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่กระทบกับคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับมรดกตกทอด โดยกฎหมายจะมีการกำหนดว่ามรดกที่ผู้ให้หรือผู้รับต้องมีมูลค่าเท่าไร ถึงต้องเสียภาษีมรดกให้กับกรมสรรพากร
“กรณีที่ชาวนาได้รับมรดกเป็นที่นาไม่กี่ไร่ ไม่ต้องเสียภาษีมรดกอย่างแน่นอน การออกกฎหมายเก็บภาษีมรดก ต้องไม่กระทบกับการกระจายรายได้ฐานราก ซึ่งเป็นนโยบายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ เพื่อให้คนจนหรือรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทางกรมสรรพากรจึงไม่อยากให้คนจนหรือมีรายได้น้อยกังวล”
นายประสงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า รายละเอียดของภาษีมรดกทางกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อแลกเปลี่ยนแง่มุมต่างๆ กันอย่างละเอียด เพื่อให้การเก็บภาษีสร้างความเป็นธรรมในสังคม ให้ผู้มีมากต้องเสียภาษีมาก เพื่อกระจายรายได้ไปให้ผู้ที่มีน้อยกว่า ซึ่งจะมีการสรุปในไม่ช้านี้
สำหรับแนวทางการเก็บภาษีมรดกที่มีการหารือกัน มีทั้งการเก็บภาษีมรดกจากกองมรดก โดยให้เสียภาษีก่อนที่จะแบ่งให้กับผู้รับมรดก โดยจะมีการกำหนดว่า กองมรดกต้องมีมูลค่าเท่าไรถึงจะต้องเริ่มเสียภาษีมรดก นอกจากนี้ ยังเก็บภาษีมรดกจากผู้ที่ได้รับ จะมีการกำหนดว่าผู้ที่รับมรดกมูลค่าเกินเท่าไรถึงต้องเสียภาษีมรดก
อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีมรดกแต่ละแนวทางมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การเก็บภาษีจากกองมรดกทำได้ง่าย เก็บภาษีได้มาก แต่ไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับมรดกเพราะทุกคนต้องเสียภาษีเท่ากันไม่ว่าจะได้รับมรดกมากหรือน้อย แต่ขณะที่การเก็บภาษีมรดกจากผู้รับ จะเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีมากกว่า แต่การดำเนินการเก็บจะยุ่งยาก และเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้จะน้อยกว่าเก็บภาษีจากกองมรดก