xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดสัปดาห์หน้าดัชนีหุ้นไทยผันผวนตามปัจจัยต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 4-8 สิงหาคม 2557 ว่า จะยังคงมีแรงขายทำกำไรกดดันให้ดัชนีแกว่งตัวผันผวน ดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,484 และ 1,464 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,512 และ 1,525-29จุด ตามลำดับ โดยนักลงทุนต้องจับตาดัชนีภาคอสังหาริมทรัพย์ และดัชนี ISM ภาคบริการของสหรัฐอเมริกา

พร้อมกันนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปภาพรวมดัชนีสัปดาห์ที่ผ่านมา SET ปรับลดลงจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนีปิดที่ระดับ 1,500.20 จุด ลดลง 2.83% จากสัปดาห์ก่อน ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง 3.10% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 52,583.87 ล้านบาท โดยนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ ขณะที่นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างชาติ และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 576.72 จุด เพิ่มขึ้น 1.86% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี DJIA ร่วงลงจากความกังวลว่า เฟดอาจตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในจังหวะที่เร็วกว่าที่คาดไว้ โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ดัชนี DJIA ปิดที่ 16,563.30 จุด ลดลง 2.34% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ แกว่งตัวขาลงในสัปดาห์นี้ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับแรงกดดันจากเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ และผลกำไรบริษัทกลุ่มขนส่งที่ออกมาแย่กว่าคาด ก่อนที่จะฟื้นตัวในวันพุธ จากแรงหนุนของรายงานจีดีพีไตรมาส 2/57 ที่ออกมาแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลงอีกครั้งในวันพฤหัสบดี จากความวิตกว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หลังจากที่ผลการประชุมเฟดได้เปิดเผยถึงมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของอาร์เจนตินา และการยกระดับการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei ปรับเพิ่มขึ้นจากการรายงานผลกำไรบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง โดยเมื่อวันศุกร์ ดัชนี Nikkei ปิดที่ 15,523.11 จุด เพิ่มขึ้น 0.42% จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ก่อนที่จะย่อตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์ จากแรงหนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดี รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินเยน ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ จากความกังวลว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าที่ตลาดเคยคาดไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น