xs
xsm
sm
md
lg

JARKEN คว้ารางวัล CSR องค์กรชั้นนำรับผิดชอบต่อสังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น.ส.สิริทร สิทธิวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด กลุ่มบริษัท จาร์เค็น จำกัด (JARKEN group of companies) ร่วมกับนายแพทย์ ธีระ วรธนารัตน์จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ารับรางวัล Asia Responsible Entrepreneurship - Southeast Asia 2014 สาขา Health Promotion กับโครงการ “สถาปัตย์บำบัด” ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดย Enterprise Asia (NGO) องค์กรที่ส่งเสริมการทำประโยชน์แก่สังคม ซึ่งในปีนี้มีเพียง 6 องค์กรจากไทยที่ได้รับรางวัล เช่น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จํากัด จากการคัดเลือกจากกว่า 200 บริษัท ใน 11 ประเทศที่มีแนวคิด และมีความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจโดดเด่นด้าน CSR ในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม

“สถาปัตย์บำบัด (Architectural Therapy) คือการประยุกต์และพัฒนาความรู้ทางสถาปัตยกรรม ควบคู่กับการบำบัดรักษาทางการแพทย์ เพื่อรักษาและฟื้นฟูสภาพให้ผู้ป่วย และผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในอาคารที่พักอาศัยควบคู่กับการใช้สอยทางสถาปัตยกรรมได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น และบรรเทาอาการของผู้ป่วยทุกรายให้หายจากโรคเจ็บป่วย ทั้งทางกาย และใจ ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับญาติผู้ป่วยด้วยเช่นกัน” น.ส.สิริทร กล่าว

แนวคิดการออกแบบบ้านแบบองค์รวมแนวใหม่นี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน ซึ่งเราเห็นว่ากลุ่มผู้ป่วย และสังคมผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นทุกๆ วัน เมื่อเกิดการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษา ไม่ว่าจะเป็นโรคเรื้อรัง และโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือประสบอุบัติเหตุที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกาย อาจไม่สามารถบำบัดโดยใช้ยารักษาโรคได้อย่างเดียว แต่ต้องบำบัดรักษาโดยใช้สถานที่พักอาศัย ซึ่งเป็นอีก 1 ในปัจจัย 4 เป็นตัวช่วย

“ระดับความสูงของขั้นบันได หรือการวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดสะโพก หรืออาการป่วยบางประเภทมีอาการหายช้า หรือกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบได้ ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับแพทย์ หรือพยาบาล ไม่ว่าจากโรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลรัฐที่จะดูแลรักษาไปถึงสิ่งแวดล้อมในสถานที่พักอาศัยของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิก อินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ หรือวิศวกรเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องยากสำหรับสถาปนิก หรืออินทีเรียร์ ดีไซเนอร์ที่จะออกแบบหรือให้คำแนะนำผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ ได้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา เราเชื่อว่าการทำโครงการนี้จะเป็นองค์ความรู้ใหม่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่วงการวิชาชีพทั้ง 2 ได้อย่างดี และกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น” น.ส.สิริทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น