หัวเรือใหญ่ “GUNKUL” เผยเตรียมทุ่มงบลงทุน 8,500 ล้านบาท ขยายโรงไฟฟ้าเพิ่ม ตั้งเป้าปีนี้ได้งานเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 20% แย้มงานในมือเตรียมรับรู้ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนเป้าหมายในการผลิตไฟฟ้าให้ได้ไม่น้อยกว่า 300 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 3 ปี หรือภายในปี 2559 จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 178 เมกะวัตต์ โดยแบ่งออกเป็นไฟฟ้าจากพลังงานลม จำนวน 120 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังงานพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 28 เมกะวัตต์ และพลังงานไฟฟ้าจากก๊าซ จำนวน 30 เมกะวัตต์ ซึ่งในปีนี้บริษัทฯ ได้เจรจาเพื่อหาพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจโครงการอื่นที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคต เพื่อให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ตามแผนระยะยาว 5 ปีของบริษัทฯ ซึ่งจะเป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้จะเติบโตไม่น้อยกว่า 20-22% ต่อเนื่องทุกปี
“ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 8,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม 120 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณเดือนตุลาคมนี้ และน่าจะเสร็จภายในไตรมาส 4 ปีหน้า ซึ่งเงินที่จะนำมาลงทุนนั้นจะได้จากการทำโปรเจกต์ไฟแนนซ์ทั้งหมด โดยโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานลมคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้บริษัทฯ เข้ามาไม่ต่ำกว่า 14-15 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หลังจากที่พร้อมเดินเครื่องกำลังการผลิตเต็มที่ ขณะที่เมื่อโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานลมแล้วเสร็จ สัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50% ขณะที่ปัจจุบันมูลค่างานในมือ (Backlog) ของบริษัทฯ ที่จะรับรู้ได้ภายในปีนี้ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 1,500 ล้านบาท และบริษัทเตรียมที่จะเข้าประมูลงานในโครงการอื่นๆ อีก 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้งานไม่น้อยกว่า 20%”
ส่วนของความร่วมมือกันกับบริษัท ชูบุ อิเล็กทริก ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่เป็นพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าลงทุนโครงการโรงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซในพม่า ซึ่งบริษัทฯ ได้รับอนุมัติมาแล้ว 2 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการที่ 1 ได้เริ่มจำหน่ายไฟไปบ้างแล้ว โดยบริษัทฯ ร่วมลงทุนในการเข้าถือหุ้นกับพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศพม่าด้วยในสัดส่วน 51% ส่วนโครงการที่ 2 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ซึ่งบริษัทฯ จะถือหุ้นประมาณ 60% ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือนนี้
ทั้งนี้ ในส่วนของการเจรจากับกองทุนหมู่บ้านซึ่งมีทั้งสิ้นทั่วประเทศกว่า 70,000 แห่งเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ โซลาร์ รูฟ ชุมชนของภาครัฐจำนวน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะได้งานอย่างน้อย 100 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงสร้างการลงทุนนั้นจะมี 3 ลักษณะคือ 1.เข้าลงทุนทั้งหมด ทั้งในส่วนของการก่อสร้าง และการบริหารไฟฟ้า 2.การเข้าเข้าไปร่วมลงทุนกับกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยกว่า 70,000 กองทุนทั่วประเทศ โดยแบ่งรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน และ 3.การเข้าไปรับงานรับเหมาก่อสร้างเพียงอย่างเดียว โดยคาดว่าใบอนุญาตสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใบแรกออกมาจะออกมาในช่วงไตรมาส 3 นี้