“ไทคอน” เผยรายได้หดหลุด 7 พันล้านบาท แต่ไม่กังวลคาดลดไม่เกิน 5% หลังรายได้ไตรมาส 2/57 มีแนวโน้มหดตัวต่ำกว่าไตรมาสแรก ส่วนนักลงทุนยังวิตกกังวลรัฐประหาร ส่งผลต่อภาพรวมการลงทุนในปีนี้ แย้มอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้อาจปรับตัวลดลงเล็กน้อย เพราะหันไปรับงานสร้างตามออเดอร์มากขึ้น
นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น หรือ TICON กล่าวว่า รายได้ในไตรมาส 2 ของบริษัทในปีนี้อาจจะปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกที่มีรายได้ 889 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนรายได้ทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 7,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมมีผลประกอบการที่ปรับตัวลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีสัดส่วนเป็น 35% ของจำนวนลูกค้าที่เช่าโรงงาน และคลังสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯเชื่อว่าภาพรวมของการลงทุนในปีนี้ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่ารายได้ปีนี้ไม่น่าจะลดลงต่ำกว่าเป้าหมายไม่เกิน 5%
“จากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งกระทบต่อความต่อเนื่องของอุตสาหกรรมปลายนน้ำทำให้ชะลอตัวลง โดยในไตรมาสที่ 2 ยังไม่เห็นการฟื้นตัวของการลงทุน และนักลงทุนเองนั้นยังคงมีความกังวลต่อปัญหาการเมืองที่ยังไม่ยุติ และเศรษฐกิจในประเทศไทย ส่งผลให้ภาพรวมของการลงทุนทั้งปียังคงซบเซาอยู่ ถึงแม้ว่าอาจจะดีขึ้นในครึ่งปีหลังก็ไม่อาจชดเชยในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกได้”
ขณะที่นักลงทุนรายใหม่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีความกังวลจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหลังการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งทำให้มีการชะลอการลงทุนลง โดยมุมมองของนักลงทุนต่างชาตินั้นอยู่ในระหว่างการประเมินสถานการณ์ว่า คสช.จะดำเนินนโยบายทั้งทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจไปในทิศทางไหน ขณะเดียวกัน บริษัทฯต้องการให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเร่งอนุมัติโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนที่ค้างอยู่กว่า 5-6 แสนล้านบาท ให้เร็วที่สุดเพื่อกระตุ้นภาคการลงทุนในประเทศ
“ต่างประเทศมีความกังวลหลังการรัฐประหารว่า คสช.จะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเดินหน้าตามแผนเศรษฐกิจไปได้เร็ว และตามแผนแค่ไหน เช่น บริษัทฯ จากประเทศญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยค่อนข้างกังวลในเรื่องของการทำงานช่วงเคอร์ฟิว และความปลอดภัยของพนักงาน ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ ได้เจรจากับลูกค้าในส่วนของงานก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูป และคลังสินค้าตามแบบของลูกค้า (build to suit) ประมาณ 400,000 ตารางเมตร แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรอาจจะลดลง แต่งานในส่วนนี้จะสามารถประกันรายได้ให้แก่บริษัทฯในระยะยาว”
อย่างไรก็ดี ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทฯ รับงานก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูป และคลังสินค้าตามแบบของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งงานดังกล่าวมีอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าโรงงาน และคลังสินค้าสำเร็จรูปปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงแต่บริษัทฯ สามารถสร้างรายได้ในระยะยาวมากกว่าสัญญาของโรงงานและคลังสินค้าแบบปกติ