xs
xsm
sm
md
lg

สคร.จี้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน 4 แสนล้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สคร.เผยช่วง 7 เดือนแรกปีงบ 57 รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนได้แล้ว 280,000 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 400,000 ล้านบาท พร้อมเรียกร้องให้เร่งเบิกจ่ายตามแผนเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 56-เมษายน 57) รัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้แล้วถึง 280,000 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 400,000 ล้านบาท เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จึงต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้สามารถดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง โดยบางแห่งก็สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 100%

นายประสงค์ กล่าวว่า สำหรับผลการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556-เมษายน 2557) อยู่ที่ 100,052 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 23,596 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจมีรายได้ที่ดี โดยคาดว่าทั้งปีจะเกินเป้าที่วางไว้ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจที่มีความโปร่งใสมากขึ้น ขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่น เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ได้มีการลงทุนเพิ่ม ทำให้ไม่ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่าย เช่น หักค่าเสื่อม ขณะที่สถาบันการเงินหลายแห่งฐานะผลประกอบการดีขึ้นมาก

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนพบว่า ในเดือนเมษายน รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงที่สุดในรอบ 7 เดือน จำนวน 18,120 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,682 ล้านบาท สูงจากเดือนมีนาคม 2557 ที่จัดเก็บได้ 12,183 ล้านบาท โดยในปี 2558 ตั้งเป้าหมายรายได้รัฐวิสาหกิจ 110,000 ล้านบาท จากสถานการณ์ในขณะนี้ทำให้กระทรวงการคลังขอให้ปรับเพิ่มประมาณการนำส่งรายได้ไว้ที่ 136,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ก็ยอมรับว่าในปีงบประมาณ 2558 จะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในปีนี้ ที่จะส่งผลรายได้ต่อการจัดเก็บในปีหน้า โดย สคร.ไม่ได้ไปให้รัฐวิสาหกิจมาเร่งจ่ายรายได้เข้ารัฐ เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่จัดเก็บลดลง ผลที่เกิดขึ้นมาจากผลประกอบการที่ดี

สำหรับรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ในช่วง 7 เดือน สูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย 1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำส่งได้ 18,978 ล้านบาท 2.ธนาคารออมสิน นำส่งได้ 13,023 ล้านบาท 3.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำส่งได้ 9,589 ล้านบาท 4.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำส่ง 497 ล้านบาท และนำส่งรายได้ 28% ของการจำหน่ายสลากและดอกเบี้ย 7,840 ล้านบาท รวมถึงผู้ที่ไม่มาขอรับรางวัล 514 ล้านบาท และ 5.โรงงานยาสูบ นำส่ง 7,173 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ต่ำสุดในช่วง 7 เดือนแรก เช่น บรรษัทตลาดรองสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย นำส่งได้ 3.16 ล้านบาท องค์การตลาด 5.80 ล้านบาท บริษัท สหโรงแรมไทย และการท่องเที่ยว

ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สบน.ขอให้หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจเสนอขอใช้วงเงินกู้สำหรับปีงบประมาณ 2558 เข้ามา แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ และไม่สามารถประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะได้ เนื่องจากมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงของรัฐบาลรักษาการ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อนหากมี รมว.คลัง และรัฐบาลจะได้เสนอให้พิจารณาได้ทันที

อย่างไรก็ตาม วงเงินในแผนก่อหนี้ปี 2558 อาจจะเท่า หรือลดลงเมื่อเทียบกับปีนี้ ที่อยู่ระดับ 710,000 ล้านบาท เนื่องจากงบปี 58 มีแนวโน้มจะใช้ได้ล่าช้าอย่างน้อยไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ และไม่มีรัฐบาลพิจารณาโครงการลงทุนใหม่ๆ ทำให้การกู้เงินปีหน้านอกจากกู้เพื่อชดเชยขาดทุน ซึ่งก็ยังไม่มีความชัดเจนแล้วก็จะเป็นโครงการต่อเนื่องที่ดำเนินการมาแล้วมากกว่า และการกู้เงิน โดย สบน.ก็คงจะล่าช้าตามไปด้วย รวมถึงรัฐวิสาหกิจอาจจะมีเวลาในการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนน้อย ทำให้การเสนอโครงการใช้เงินกู้จะค่อนข้างมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะแผนลงทุนในปีนี้ก็ยังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ขณะนี้คงไม่สามารถปรับแผนการก่อหนี้ได้ใหม่จากเดิมต้องทบทวนและปรับทุกๆ 3 เดือน จากที่ล่าสุดต้นปีมีการปรับแผน และปรับลดวงเงินไป 5,000 ล้านบาท โดยมองว่า รสก.จะเร่งขอใช้วงเงินกู้เข้ามาภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อไม่ให้วงเงินถูกพับไป
กำลังโหลดความคิดเห็น