xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.คาด ศก.ไทย Q2/57 ฟื้นตัว จีดีพีในปี 58 กลับขึ้นมาโตสูงกว่า 3% ย้ำค่าบาทยังมีเสถียรภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (แฟ้มภาพ)
ธปท.คาดแนวโน้ม ศก.ไทย ไตรมาส 2/57 ฟื้นตัว แต่ทั้งปีอาจต่ำกว่า 3% โดยเชื่อว่าในปี 58 จีดีพีจะกลับขึ้นมาโตสูงกว่า 3% ได้แน่นอน พร้อมย้ำค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ-ไม่กระทบการค้า

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/57 ส่วนการส่งออกไตรมาสแรกที่หดตัวนั้นเชื่อว่าจะดีขึ้นเช่นกันตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ ซึ่งการเคลื่อนไหวในช่วง 32 บาท/ดอลลาร์ไม่เป็นอุปสรรรคต่อภาคการค้าของไทย อย่างไรก็ตาม ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปี 57 จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ซึ่งจะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์อีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้

"ประเมินว่า จีดีพีและการส่งออกในไตรมาส 2/2557 จะเป็นบวก โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อีกทั้งจีดีพีที่คาดว่าจะโตต่ำกว่า 3% ถือว่าไม่มีอะไรที่น่าประหลาดใจ แต่เชื่อว่าในปี 2558 จีดีพีจะกลับขึ้นมาโตสูงกว่า 3%ได้ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศในปีนี้น่าจะคลี่คลายได้ในปีหน้า"

สำหรับภาคการส่งออกในไตรมาส 1 ที่ติดลบนั้น เชื่อว่าแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่เคลื่อนไหว 32 บาท/ดอลลาร์ ไม่ได้ถือว่าแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า ถือว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพและไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และคาดว่าทั้งปีการส่งออกจะอยู่ที่ 4.5%

ส่วนหนี้ครัวเรือนที่ยังมองว่ายังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับจีดีพี แต่อัตราการเร่งของหนี้ครัวเรือนถือว่าอัตราที่ลดลง เช่น สินเชื่ออุปโภคและบริโภคที่ในปี 2556 โต 15-16% ส่วนในปีนี้ลดลงเหลือโต 10% ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างๆ มีการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยมีการติดตามลูกค้าที่มีปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย

นายประสาร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือน มิ.ย.ที่จะถึงนี้ อาจมีการทบทวนปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลง เพื่อสะท้อนกับความเป็นจริง โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจากการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้ากว่าที่คาด อีกทั้งยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ บวกกับอุปสงค์ในประเทศที่มีการอ่อนตัวลง ซึ่งมาจากการชะลอตัวในการใช้จ่ายในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น