สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ ศก.ไทย ปี 57 เหลือขยายตัวแค่ 3-4% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 4-5% โดยมีข้อจำกัดของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนตัว ตามความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศที่ยังอ่อนตัวลงต่อเนื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาสที่ 4 ปี 2556 และแนวโน้มปี 2557 โดยระบุว่า จีดีพีในไตรมาส 4 ปี 2556 ขยายตัวเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและทั้งปี 56 ขยายตัวแค่ 2.9% พร้อมทั้งปรับคาดการณ์ จีดีพี ในปี 2557 ลงเหลือขยายตัว 3-4% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ถึง 4-5% เนื่องจากคาดว่าในปีนี้ข้อจำกัดของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนตัว ตามความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง
"เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วง 3-4% ดีขึ้นจากการขยายตัว 2.9% ในปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัว 3.6% เร่งตัวขึ้นจาก 3.1% ในปี 2556" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ทั้งนี้ สมมติฐานการประมาณการในครั้งนี้ ประกอบด้วย (1) เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.6% เร่งตัวขึ้นจาก 3.1% ในปี 2556 (2) ราคาน้ำมันดิบดูไบจากเฉลี่ย 102.5-107.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับลดจาก 105-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งที่แล้ว และ (3) ค่าเงินบาทเฉลี่ย 32.0-33.0 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่ำลงจากเดิมซึ่งคาดว่าจะเฉลี่ย 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์
โดยในปีนี้ การท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเพียง 3.0% ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนและอัตรสการขยายตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ในส่วนที่ได้มีการผูกพันไว้แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่ขอรับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไว้แล้ว และสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการอนุมัติในช่วงครึ่งหลังของปีได้ โดยคาดว่าการปรับปรุงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
"โดยรวมจึงคาดว่าข้อจำกัดของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอ่อนตัว จะทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำกว่ำ 4- 5% ที่เคยประมาณการไว้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 เนื่องจากความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง" เอกสารเผยแพร่ระบุ
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในช่วง 1.9-2.9% เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัวไม่มาก ประกอบกับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไม่มาก อัตราการว่างงานจะยังต่ำไม่เกิน 1% ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งคาดว่าจะขาดดุล 0.2% ของจีดีพี ลดลงจากการขาดดุล 0.6% ของจีดีพี ในปี 2556
ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2557 มาจากในด้านต่างๆ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.การส่งออกมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนและจะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ถึง 5-7% เป็นฐานรายได้และปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2557 ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งเริ่มชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2556 เริ่มส่งผลดีต่อการส่งออก
2.จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2557 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.0% ต่ำกว่ำสมมติฐาน 28.0 ล้านคนที่เป็นเป้าหมายของทำงาน และเป็นสมมติฐานในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจากการประกาศของประเทศต่างๆ แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวของตนที่จะ เดินทำงเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นเพียง 0.06%
3.การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว 2.0% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 0.3% โดยคาดว่าอัตาราการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2557 จะเท่ากับ 92% สูงกว่าอัตราการเบิกจ่าย 90.5% ในปีงบประมาณ 2556 เนื่องจากอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมในปี 2556 ยังต่ำกว่ำเป้าหมาย แม้จะมีการดำเนินมาตรการเพื่อการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่าย จึงส่งผลให้มีเม็ดเงินงบประมาณผูกพันเหลื่อมปีมาเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2557
อย่างไรก็ดี ในการประมาณการครั้งนี้ สศช.ปรับประมาณการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2557 ลงจากที่คาดไว้เดิม 95% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนภาครัฐจะล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม ทั้งแผนการลงทุนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... และโครงการลงทุนภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555
รวมทั้งการจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไป จะส่งผลกระทบให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 มีความล่าช้า ซึ่งจะทำให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียงบางส่วนเท่านั้นในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558
4.การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้าตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ และการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อาจจะมีความล่าช้าออกไป นอกจากนั้นนักลงทุนรายใหม่ยังมีแนวโน้มที่จะรอดูความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ และแนวทางการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ โดยคาดว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะขยายตัว 3.8% ต่ำกว่าที่ประมาณการเดิม 5.8%
5.การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว 1.4% ฟื้นตัวดีขึ้นกว่าการขยายตัว 0.2% ในปี 2556 ต่ำกว่าประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัว รวมทั้งยังมีผลจากฐานปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ที่สูงมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสแรกและสองของปี 2557 จะยังคงลดลงประมาณ 38-48% และ 20-30% ตำมลำดับ
สำหรับการบริหารเศรษฐกิจในปี 2557 เห็นว่า 1.การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้จากตลาดหลักและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนการปรับตัวของภาคการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค โดยการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งผ่านชายแดน และการส่งเสริมผู้ประกอบการไปเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
2. การกำกับดูแลแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดูแลด้านการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ให้เป็นไปตามเป้าหมายการเตรียมความพร้อมของแผนงานและโครงการที่จะต้องได้รับการพิจารณาเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี การกำหนดแนวทางการดำเนินการโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้เงื่อนไขต่างๆ การปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่รออยู่
3. การดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มีความผันผวนจนเกินไป รวมทั้งการดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ และการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
4. การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การสร้างอาชีพเสริมช่วงภาวะน้ำแล้ง และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เป็นต้น
*จีดีพี ปี 56 โต 2.9% อุปสงค์ในประเทศชะลอ-ความเชื่อมั่นลด
อย่างไรก็ดี สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งปี 2556 ขยายตัว 2.9% ชะลอตัวค่อนข้างมากจากที่ขยายตัว 6.5% ในปี 2555 เนื่องจากฐานการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนเอกชนในช่วงครึ่งหลังปี 2555 สูงกว่าแนวโน้มปกติ โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งสูงถึง 211,474 คันในไตรมาสสี่ปี 2555 จึงส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศรวมชะลอตัวลงมาก ประกอบกับในช่วงปลายปีความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง การใช้จ่ายของครัวเรือนโดยรวมทั้งปีจึงขยายตัวเพียง 0.2% การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 2.8% และการใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐก็ชะลอตัวลง
2.ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการยังชะลอตัวเนื่องจารเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว รวมทั้งสินค้าส่งออกเกษตรประสบปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง และสินค้าอุตสำหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถปรับตัวทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตหน่วยความจำของฮาร์ดดิสก์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยรวมทั้งปี 2556 มูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 225,397 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.2%
การใช้จ่ายและการส่งออกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การผลิตในทุกสาขาชะลอลง ทั้งปี 2556 ภาคเกษตรกรรมขยายตัว1.4% ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 0.1% ภาคการก่อสร้างขยายตัว 1.2% และสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัว12.1% โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 26.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.6%
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยังคงมีเสถียรภาพที่มั่นคง โดยที่อัตราการว่างงานทั้งปีเท่ากับ 0.7% อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.6% ต่อจีดีพี