ปิดตลาดหุ้นช่วงเช้าดัชนีอยู่ที่ 1,412.82 จุด เพิ่มขึ้น 3.64 จุด มูลค่าการซื้อขาย 14,960.30 ล้านบาท เปลี่ยนแปลง +0.26% โดยระหว่างเทรดดัชนีแตะจุดสูงสุดที่ 1,413.57 จุด และต่ำสุดที่ 1,406.64 จุด
ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ สรุปภาพรวมช่วงเช้าว่า ดัชนีแกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากยังมีปัจจัยการเมืองในประเทศกดดันบรรยากาศการลงทุน ประกอบกับหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคารยังขึ้นเครื่องหมายผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้รับสิทธิในการจ่ายเงินปันผล (XD) เช่น ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารทหารไทย (TMB) พร้อมคาดการณ์ความเคลื่อนไหวช่วงบ่าย ดัชนีฯ ยังคงแกว่งตัวในกรอบ 1,400 จุด ถึง 1,420 จุด ทั้งนี้ นักลงทุนที่มีหุ้นอยู่ในพอร์ต แนะนำ “ถือ” ส่วนนักลงทุนที่ยังไม่มีหุ้นในพอร์ตให้รอจังหวะย่อตัวแล้วจึงค่อยเข้าซื้อ โดยสัดส่วนพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสม แนะนำถือหุ้น 30% เงินสด 70%
ขณะที่ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคที ซีมิโก้ คาดดัชนีฯ ยังสามารถ Sideway Up ด้วยแรงหนุนจาก Fund Flow อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยการเมือง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรระวัง เพราะขณะนี้อัตราผลตอบแทนเริ่มมีจำกัด เมื่อเทียบกับ Valuation ของตลาดหุ้นไทยที่ PER สูงกว่า14 เท่า และมีความเสี่ยงถูกลดประมาณการกำไรต่อเนื่อง หลังกลุ่มแบงก์รายงานกำไรแย่กว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ราคาหุ้นเริ่มเข้าสู่ระดับแพงขึ้น พร้อมกำหนดแนวต้าน 1,420/1,440 จุด แนวรับ 1,398/1,384 จุด
ปัจจัยการเมือง จับตา 1.การนัดหารือเรื่องการจัดการเลือกตั้งของ กกต. 22 เม.ย.นี้ การเข้าร่วมประชุมของพรรค ปชป. ด้วยถือเป็นข่าวดีชั่วคราว (ข่าวบวกต่อตลาดจริงๆ จะเกิดขึ้น หากพรรคปชป.ประกาศเข้าร่วมการเลือกตั้งครั้งใหม่ คาดปลายเดือน ก.ค.) 2.วันที่ 23 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญฯ จะกำหนดวันตัดสิน หรืออนุญาตตามข้อเสนอของนายกฯ ที่ขอขยายเวลาอีก 15 วันจนถึง 2 พ.ค. เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม 3.ป.ป.ช.จะพิจารณาสรุปประเด็นต่างๆ ก่อนมีคำตัดสินชี้มูลนายกฯ กรณีโครงการจำนำข้าว หรือไม่ ใน 1-2 สัปดาห์หน้า ส่วนปัจจัยอื่นๆ จะจับตาผลประชุม กนง. 23 เม.ย. (เราคาดคงดอกเบี้ยที่เดิม) และรายงานผลกำไร บจ. (กลุ่มแบงก์ PTTEP SCC DTAC) โดยจะเป็นสัญญาณลบต่อราคาหุ้นรายตัว หากออกมาแย่กว่าคาดการณ์
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ : ไฮไลต์อยู่ที่รายงานผลกำไร บจ.สหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนมากในสัปดาห์นี้ เด่นๆ ได้แก่ APPLE MICROSOFT AMAZON VISA ฯลฯ และตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ (สัปดาห์นี้ส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลขภาคการผลิตสหรัฐฯ ยุโรป และดุลการค้าญี่ปุ่น)