“โฆสิต” คาดจีดีพีปีนี้โต 3% หากได้รัฐบาลใหม่ และทำงานได้เต็มที่ พร้อมระบุหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเพราะโครงการประชานิยม “สมชาย” ชี้การเมืองวุ่นไทยอาจถูกปรับลดอันดับเครดิตประเทศลง เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันให้ลดลง เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ปัจจัยลบจะกระทบเศรษฐกิจในปีนี้ ยังเป็นผลกระทบจากโครงการประชานิยม เช่น โครงการรับจำนำข้าว และรถคันแรก ที่ทำให้หนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลรักษาการยังคงมีอยู่นั้นจะทำให้การบริหารงานไม่เต็มที่
ทั้งนี้ หากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ สามารถบริหารงานได้อยางเต็มที่ จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ เติบโตได้ประมาณ 3% แต่หากรัฐบาลใหม่ทำงานไม่เต็มที่ ก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวต่ำกว่า 3%
ขณะที่เศรษฐกิจไทยใน 1-2 ปีข้างหน้า จะได้รับผลกระทบจากโครงการประชานิยมต่อไป ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจตามความจำเป็น โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้คาดจะขยายตัวประมาณ 5-6% ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยอมรับว่า กังวลต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ปรับตัวไม่ทันต่อการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมองว่าควรเร่งศึกษา และหาแนวทางในการปรับตัวให้เร็วที่สุด
สำหรับแผนงานของธนาคารในปีนี้ การปล่อยสินเชื่อตั้งไว้ที่ 5-6% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งสินเชื่อในปีนี้อาจโตไม่มากนัก แต่ทางธนาคารต้องใช้ยุทธศาสตร์เพื่อนคู่คิดเพื่อควบคู่กับการทำธุรกิจไปด้วย
ด้านนายสมชาย ภคภาสน์วิวัตน์ นักวิชาการอิสระทางด้านเศรษฐกิจ ยอมรับว่า แม้ประเทศไทยในขณะนี้จะมีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน แต่สถานการณ์ทางการเมืองเชื่อว่าจะยังวุ่นวายต่อไปอีก 1-2 ปี เนื่องจากประเทศไทยยังอยู่ในช่วงกับดักประชาธิปไตย ที่มีฝ่ายความคิดเห็นขัดแย้งทางการเมืองแตกต่างกัน 2 ฝ่าย ซึ่งผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ
ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยอาจถูกปรับลดอันดับเครดิตประเทศลง เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันให้ลดลง เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น
เพราะฉะนั้น ภาคเอกชนจะต้องเร่งปรับตัว รวมไปถึงภาคการส่งออกของไทยที่ยังขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์เดิมที่ 5-6% ไม่สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะประเทศไทย ผลิตสินค้าไม่ตรงต่อความต้องการของตลาด และกำลังประสบปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 2.5-3.0% เท่านั้น