xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Nonfarm Payroll ของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ฟิลลิป (ประเทศไทย) นำเสนอ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Nonfarm Payroll ของสหรัฐฯ

นับตั้งแต่ที่เฟดได้เริ่มปรับลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตร หรือ QE ลงครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว และครั้งล่าสุด ช่วงปลายเดือน ม.ค. ก็ดูเหมือนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ กลับดูไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นผลมาจากสภาพอากาศเลวร้ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งภาวะอากาศที่หนาวจัด ซึ่งบางแห่งมีอุณหภูมิลดลงต่ำกว่า 0 องศา รวมทั้งเกิดพายุหิมะรุนแรงในหลายๆ พื้นที่ทั้งฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตก ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานพอสมควร
 
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรล่าสุดของเดือน ก.พ. ก็เริ่มกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง หลังจาก 2 เดือนก่อนหน้านี้ มีอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงไป ขณะที่ราคาทองคำก็ตอบสนองเชิงลบค่อนข้างแรงหลังจากที่ประกาศตัวเลขดังกล่าว โดยปรับตัวลงไปถึง 10 เหรียญภายในช่วงเวลาเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น โดยตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payroll) นี้ใช้เป็นตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจในประเทศได้เป็นอย่างดี ในช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐช่วงปี 2008-2009 การจ้างงานมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัว นักลงทุนก็ใช้ตัวเลขดังกล่าวในการคาดการณ์ถึงกรอบเวลาในการปรับลดขนาด QE ของเฟดด้วย ดังนั้น เราจะมาทำความรู้จักตัวเลขเศรษฐกิจตัวนี้ให้มากขึ้นกัน

โดยปกติกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะมีการรายงานสถานการณ์การจ้างงานในวันศุกร์แรกของแต่ละเดือน ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรจะได้จากผลสำรวจที่เรียกว่า Establishment Survey ซึ่งจะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงาน, ชั่วโมงการทำงาน และผลตอบแทนของลูกจ้างในธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเกษตร โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างตามสถานที่ทำงานทั้งที่เป็นสำนักงาน, โรงงาน และห้างร้านต่างๆ ประมาณ 554,000 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของลูกจ้างนอกภาคการเกษตรทั้งหมด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งประมาณ 40% จะมีลูกจ้างน้อยกว่า 20 ราย โดยลูกจ้างทั้งที่เป็นแบบ full time และ part time ที่ได้รับผลตอบแทนในช่วงเวลาที่อ้างอิงจะรวมอยู่ในกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ และจะไม่มีการจำกัดอายุของลูกจ้าง นอกจากนี้ ถ้าลูกจ้างคนเดียวกันทำงานมากกว่า 1 งานในเวลาเดียวกัน ก็จะต้องมีการนับซ้ำตามจำนวนงานที่ทำด้วย
 
อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกจ้างหลายๆ ประเภทที่ไม่ได้รวมอยู่ในการสำรวจนี้ เช่น ผู้ที่มีธุรกิจเป็นของตัวเองโดยไม่ได้จดทะเบียน, ลูกจ้างในภาคครัวเรือน, ลูกจ้างที่ไม่ได้รับผลตอบแทนเนื่องจากการลาหยุดในช่วงเวลาที่อ้างอิง, พนักงานภาครัฐ และพนักงานในองค์กรที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร

สำหรับตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรล่าสุดที่ออกมาช่วงต้นเดือน มี.ค. จะเป็นเพียงตัวเลขขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่ตัวเลขอย่างเป็นทางการของเดือน ก.พ. เนื่องจากกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ ณ เวลาที่รายงาน ดังนั้น ตัวเลขจะมีการปรับค่าในการรายงานสถานการณ์จ้างงานในเดือนถัดๆ ไปอีก 2 เดือนตามข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมเข้ามา จึงจะได้ตัวเลขอย่างเป็นทางการของเดือน ก.พ. ซึ่งก็คือช่วงต้นเดือน พ.ค. นั่นเอง
 
นอกจากนี้ ตัวเลขจะมีการรายงานทั้งที่ปรับค่า และไม่ปรับค่าตามฤดูกาลเพื่อให้เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตัวเลขชัดเจนยิ่งขึ้น โดยไม่ถูกบิดเบือนโดยผลกระทบที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศ, วันหยุดสำคัญ, ช่วงเวลาเปิด-ปิดของโรงเรียน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน ในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงก่อนวันหยุดคริสต์มาส การจ้างงานในธุรกิจประเภทค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และลดกลับลงมาหลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาวไปแล้ว หรือในช่วงสิ้นสุดฤดูใบไม้ผลิ การจ้างงานในภาคการศึกษาจะลดลงไปประมาณ 20% และจะกลับมาเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น