“สภาพัฒน์” คาดแนวโน้ม ศก.ไทยปีนี้ยังโตได้ 3% โดยมีแรงหนุนจาก ศก.โลกฟื้นตัว และการปรับลด ดบ.นโยบาย ส่วน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ล่มไม่ส่งผลต่อประมาณการ ศก.ของ ธปท. เนื่องจาก ธปท.ได้ลดทอนสมมติฐานการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐไป
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังเติบโตได้ในระดับ 3% อย่างไรก็ตาม ปีนี้เศรษฐกิจโลกโตกว่าปีที่แล้ว กำลังซื้อน่าจะมาจากขึ้น และการส่งออกของไทย 2 ปีที่ผ่านมาทำได้น้อย ยังมีโอกาสที่จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วน คาดว่ายังน่าจะโตได้ถึงระดับ 3%
โดยเมื่อเดือนที่แล้ว สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 57 เหลือ 3.0-4.0% จากก่อนหน้านั้นคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.0-5.0% เนื่องจากความล่าช้าของการลงทุนภาครัฐ และการบริโภคในประเทศที่ยังชะลอตัว ขณะที่วานนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 2.00% เพื่อช่วยพยุงความเชื่อมั่น และกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ พร้อมทั้งคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าระดับ 3%
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.เมื่อวานนี้ เพราะประเมินว่าเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ม.ค.มีสัญญาณการอ่อนตัว โดยเฉพาะด้านการบริโภคและการลงทุน แม้กระทั่งการส่งออก ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยจึงน่าจะช่วยเรื่องต้นทุนของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนให้ลดลง โดยเฉพาะอาจช่วยกระตุ้นการตัดสินใจการลงทุนของภาคธุรกิจที่ยังชะลอดูทิศทางการเมืองอยู่ได้
ขณะที่ กนง.ระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น จะไม่ส่งผลต่อประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. เนื่องจาก ธปท.ได้ลดทอนสมมติฐานการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐไปก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนเงินที่จะนำมาใช้ลงทุนแทนร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ฉบับดังกล่าว จะต้องรอหารือกับรัฐบาลใหม่ เพื่อดูว่าจะนำมาจากแหล่งใด แต่โครงการที่ผ่านการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่จะใช้แหล่งเงินจากเงินกู้ จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบ ยกเว้นโครงการใหม่ที่จะต้องมีการเวนคืนทีิ่ดิน ซึ่งจะต้องใช้เงินจากงบประมาณ
สำหรับการจัดทำงบประมาณปี 58 (ต.ค.54-ก.ย.58) จะขึ้นอยู่กับว่า มีรัฐบาลใหม่ได้เร็วเพียงใด แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาสำหรับช่วงต้นปีงบประมาณ แม้ว่าจะล่าช้าออกไป เนื่องจากสามารถใช้งบประมาณเท่ากับปีงบประมาณก่อนหน้าได้ อีกทั้งงบลงทุนในส่วนโครงการที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วก็สามารถใช้งบประมาณต่อเนื่องได้ครึี่งหนึ่งของงบประมาณที่ใช้ในปี 57 ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐเชื่อว่าจะไม่สะดุดมากนัก