xs
xsm
sm
md
lg

ส.โบรกฯ หั่นเป้ากำไร บจ. ปี 57 เหลือไม่ถึง 10% มั่นใจดัชนีฯ ที่ระดับ 1,300 จุด แข็งแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมาคมโบรกฯ หั่นเป้ากำไร บจ. เหลือต่ำกว่า 10% จากเดิมที่คาดไว่ 14-15% “ภัทธีรา” ชี้ปัญหาการเมืองทำการซื้อขายในตลาดหุ้นซบเซา กดดัชนีหุ้นไทยปีนี้ต่ำกว่าศักยภาพ ทั้งที่สามารถเติบโตได้ดีกว่านี้ แต่ยังมั่นใจว่าดัชนีจะไม่หลุด 1,300 พร้อมระบุการปรับลด ดบ.นโยบายเหลือ 2% ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่ควรทำคือการสร้างความเชื่อมั่น

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (บล.) ยอมรับว่า ปัญหาการเมืองที่ยังยืดเยื้อขณะนี้เป็นปัจจัยหลักส่งผลกระทบต่อแรงซื้อขายในตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดลง และเชื่อว่าจะเป็นแบบนี้อีกระยะหนึ่ง แม้ว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีจะมีเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยจำนวนมาก และกลับเข้ามาซื้อสุทธิเดือนมีนาคม ทำให้การไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

แต่เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะเข้ามา ทำให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย จึงคาดการณ์ว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ปีนี้ จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 10 ดังนั้น จึงมองว่าดัชนีตลาดหุ้นปีนี้จะมีแนวรับอยู่ที่ระดับ 1,300 จุด ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพของตลาดหุ้นไทยที่สามารถเติบโตได้ดีกว่านี้ แต่ถือว่าเป็นแนวรับที่แข็งแกร่ง เพราะตลาดรับรู้ข่าวไปมากแล้ว

“ส่วนของดัชนีตอนนี้เรามองว่า 1,300 จุด น่าจะเป็นจุดแนวรับที่ยังคงแข็งแรง เพราะตลาดรับข่าวการเมืองมาพอสมควรแล้ว แต่หวังว่าคงไม่ยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนต่างๆ หายไปเป็นจำนวนมาก และการลงทุนของเอกชนจะต้องหยุดชะงักลงอย่างแน่นอน และดัชนีที่ 1,300 จุดก็อาจจะเอาไม่อยู่ อย่างไรก็ดี ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีมากขึ้น เนื่องจากมีการยกเลิกการปิดกรุงเทพฯ ไปแล้ว นักลงทุนต่างชาติก็เริ่มกลับเข้ามาซื้อ โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยยังมีพื้นฐานที่ดี บริษัทจดทะเบียนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในส่วนของภาคการเงินการคลังของประเทศก็ยังอยู่ในระดับที่ดี เพียงแต่ปัญหาการเมืองขณะนี้มันกระทบต่อความเชื่อมั่นทางจิตวิทยา จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อแม้การเมืองยังไม่จบ”

ทั้งนี้ ยอมรับว่าสมาคมฯ ได้ปรับลดการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS) ปีนี้เหลือร้อยละ 9-10 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ร้อยละ 14-15 ในช่วงต้นปี โดยปัญหาการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อ ยังเป็นปัจจัยหลักที่จะกระทบการเบิกจ่ายของภาครัฐให้ชะลอออกไป ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ทันภายในครึ่งปีแรกหรือไม่ หากยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 3 ประเมินว่าในหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบอย่างมากแน่นอน

นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ฯ ยังมองว่า หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย และการมีรัฐบาลใหม่มีความชัดเจนมากขึ้น จะทำให้การซื้อขายในตลาดหุ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่รัฐบาลใหม่จะต้องเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาโดยเร็ว รวมทั้งอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวขึ้น และให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

ด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ขณะนี้ทางสมาคมฯ ยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเพื่อควบคุม หลังจากที่มีการดึงตัวเจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทหลักทรัพย์รายใหม่อย่างดุเดือด แต่อยากให้การแข่งขันเป็นไปอย่างสมดุล ไม่แย่งชิงเจ้าหน้าที่การตลาด ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมนี้เป็นจำนวนมากอย่างที่ปรากฏ

“ปีนี้วอลุ่มก็ไม่เยอะ ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโบรกเกอร์พอสมควร ขณะที่โบรกฯ ใหม่ๆ ก็ใช้กลยุทธ์ในการดึงตัวมาร์เกตติ้งกันอย่างดุเดือด ซึ่งเราอยากให้ทุกคนช่วยกันประคับประคองอุตสาหกรรมนี้ไปด้วยกัน ไม่อยากให้มีการเร่งแต่บริษัทตน จนลืมคิดถึงรายอื่น”

อย่างไรก็ตาม มองว่าการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 12 มีนาคม 2557 นี้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศอย่างที่หลายฝ่ายมีความเห็นนั้นจะไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เพราะสิ่งที่จะกระตุ้นการบริโภคได้ดีที่สุด คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

ทั้งนี้ ในวันนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เปิดตัวโครงการ “สานฝันเริ่มด้วยพันบาท” โดยร่วมกับบริษัทจัดการกองทุน เช่น บลจ.เอ็มเอฟซี บลจ.อเบอร์ดีน บลจ.กสิกรไทย บลจ.บัวหลวง และ บลจ.ภัทร เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมได้ในเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 1,000 บาท จากปกติต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้น 10,000 บาท ซึ่ง ก.ล.ต.เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการออมของประเทศให้สูงขึ้นได้ จากปัจจุบันมีสัดส่วนการออมต่ำ และเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณอายุในวัย 41 ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศมีปัญหาต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือคนชรามากขึ้น โดยปัจจุบัน ไทยมีสัดส่วนคนทำงาน 6 คนต่อคนชรา 1 คน และมีแนวโน้มคนทำงานลดลง โดยคาดว่าปี 2560 จะเหลือสัดส่วนคนทำงานเพียง 5 ต่อ 1 ปี 2565 เหลือเพียง 4 ต่อ 1 และในปี 2575 เหลือสัดส่วนเพียง 1 ต่อ 1 เท่านั้น

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังเชื่อว่าหากคนไทยมีวินัยในการออม และเข้าถึงการลงทุนอย่างถูกต้องจะทำให้ประเทศมีฐานะการเงินที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งอุปสรรคของการเข้าถึงการออม และการลงทุนของประชาชนเกิดจากความไม่กล้าลงทุน เพราะกังวลด้านความเสี่ยง และเงินทุนเริ่มต้นในการลงทุนมีไม่สูงมาก ดังนั้น หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้คนไทยมีความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยง และการเข้าถึงการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น