xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ยอมรับยอดเช็คเด้งเพิ่มขึ้นจริง คาดเกิดจากสภาพคล่องผู้ประกอบการเริ่มตึงตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ยอมรับปริมาณเช็คเด้งเพิ่มขึ้นจริง เดือน ม.ค.57 มีจำนวน 76,600 ใบ มูลค่า 12,300 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20.35% เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดเกิดจากสภาพคล่องผู้ประกอบการเริ่มตึงตัว และภาวะ ศก. เริ่มชะลอ

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวยอมรับว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการภาคเอกชนของ ธปท.พบว่า สภาพคล่องผู้ประกอบการตึงตัวขึ้น ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ยังไม่น่ากังวลมากนัก โดย ธปท.จะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวปัญหาหนี้ครัวเรือนก็จะขยับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในไตรมาส 4/2556 หลังจากที่หนี้ภาคครัวเรือนไตรมาส 3 อยู่ที่ 80.1%

ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขปริมาณเช็คคืนไม่มีเงิน หรือเช็คเด้ง เดือนมกราคม 2557 ที่มีจำนวนรวม 76,600 ใบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 15.06% มีมูลค่าเช็คเด้งรวม 12,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.35% แต่เป็นการเพิ่มขึ้นไม่มากนัก หากเทียบปริมาณเช็คเด้งกับปริมาณเช็คทั้งระบบที่พบว่าเช็คเด้งในเดือนมกราคมคิดเป็นสัดส่วน 0.30% เมื่อเทียบกับปริมาณเช็คทั้งระบบ จากเดือนธันวาคมที่อยู่ที่ 0.22% และยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เช็คเด้งที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจรายย่อยและเอสเอ็มอีหรือไม่ แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ธุรกิจดังกล่าวจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากที่สุด

โฆษก ธปท. ยังกล่าวถึงตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคมที่ลดลง 1.98% โดยระบุว่า ตามปกติตัวเลขการส่งออกเดือนมกราคมมีความปรวนแปร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีเทศกาลตรุษจีน และสภาพอากาศที่ผิดปกติในประเทศต่างๆ ประกอบกับเดือนมกราคมตัวเลขการส่งออกน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงเดือนอื่นๆ

แต่เชื่อว่าการส่งออกทั้งปีจะยังขยายตัวได้ตามที่ ธปท.เคยคาดการณ์ไว้ที่ 5-7% โดยหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนต้องทำงานหนัก หากจะให้การส่งออกโตตามเป้าหมาย มูลค่าการส่งออกจะต้องได้ประมาณ 20,000-20,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หากเทียบกับปี 2556 ที่มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามตัวเลขการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ว่าจะลดลงต่อเนื่องหรือไม่ หากลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จะต้องระมัดระวัง

ส่วนภาวะเงินทุนไหลออกตั้งแต่มกราคมจนถึงปัจจุบัน ยังเป็นปกติ โดยปริมาณเงินทุนไหลออกน้อยกว่าปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการไหลออกจากตลาดหุ้น ขณะที่ตลาดตราสารหนี้มีการไหลออกไม่มาก และค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น