xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” เผย ศก. เดือน ม.ค. ส่งสัญญาณชะลอตัว ส่งออกติดลบ 2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คลัง” เผย ศก. เดือน ม.ค. ส่งสัญญาณชะลอตัว ทั้งการใช้จ่ายในประเทศ ท่องเที่ยว การผลิต ขณะที่ส่งออกติดลบ 2% อ้างปัญหาการเมืองกดดัน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง ประจำเดือนมกราคม 2557 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้ากลับมาหดตัวเล็กน้อย แต่การส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลักสามารถขยายตัวได้

การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมกราคม 2557 หดตัวอยู่ต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ -55.9 ต่อปี ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวทั้งจากในส่วนภูมิภาค และในเขต กทม. โดยภาพรวมในเดือนมกราคม 2557 หดตัวร้อยละ -30.3 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ระดับ 61.4 และถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ต่อปี ส่วนหนึ่งมาจากฐานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำในเดือนมกราคม 2557

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวลงทั้งในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการก่อสร้าง โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -19.3 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวร้อยละ -36.2 ต่อปี ขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง วัดภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมกราคม 2557 หดตัวร้อยละ -5.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อปี สะท้อนถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มหดตัว

ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าของไทยหดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี จากการส่งออกไปยังตลาดส่งออกในภูมิภาค เช่น ตลาดออสเตรเลีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่หดตัวร้อยละ -24.2 -20.2 -18.4 และ -14.0 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเหลื่อมเดือนของเทศกาลตรุษจีนที่ตรงกับเดือนมกราคมในปีนี้ และกุมภาพันธ์ในปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดประเทศคู่ค้าหลักยังคงขยายตัวได้เล็กน้อย โดยเฉพาะจากยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 1.8 และ 0.4 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 6.5 และ 7.8 ต่อปีตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น