บมจ.เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ ตั้งเป้าปีนี้โต 10% จากยอดออเดอร์รับจ้างผลิตให้แก่แบรนด์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เผยอาจจ่ายปันผลน้อยลงจากปีก่อนเหตุต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ ฟุ้งบริษัทร่วมถึงจุดคุ้มทุนในปีหน้าตั้ง เป้าปี 59 คาดกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมเจรจาซื้อกิจการเพิ่มอย่างน้อยปีละ 1 แห่ง
นายสามิตต์ ผลิตกรรม รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ หรือ SNC กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ ตั้งงบลงทุนปีนี้ที่ 220 ล้านบาท โดยจะใช้ขยายการลงทุนต่อเนื่องในบริษัทร่วมทุน ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์อะลูมินัม คอนเดนเตอร์ ในบริษัท SCAN 187 ล้านบาท และลงทุนในผลิตภัณฑ์ฮีทปั๊ม ในบริษัท SAHP 33 ล้านบาท ตลอดจนตั้งเป้ารายได้และกำไรที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 7,155 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 423 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะเน้นไปที่ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องทำความเย็นเพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจงานรับจ้างผลิต หรือ OEM (Origianl Equipment Manufacturer) ของบริษัทฯ แนวโน้มที่ดีขึ้น จากโครงการอสังหาฯ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งบ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียม นอกจากนี้ บริษัทได้วางมาตรการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้น้อยลง โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2559 ผลประกอบการของบริษัทฯ จะมีการเติบโตอย่างโดดเด่นจากปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทฯ ร่วมทุนหลายแห่ง เช่น SCAN SAHP SAWSA SSMA TOPTECH และ ITP จะเริ่มถึงจุดคุ้มทุนในปีหน้า และจะเริ่มสร้างกำไรให้แก่บริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญในปี 59
“ขณะนี้บริษัทฯ ได้มีการลงทุนมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งส่งผลต่อภาระด้านดอกเบี้ยทำให้การจ่ายเงินปันผลในปีนี้ลดน้อยลง ซึ่งจากเดิมที่จ่ายในอัตรา 68% ของกำไรสุทธิ เนื่องจากบริษัทฯ มีภาระจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อใช้ในการขยายการลงทุน โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มียอดเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยระยะสั้น 3-4% จำนวน 50% และเงินกู้ดอกเบี้ยระยะยาว 6% จำนวน 50% แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงยืนยันตามนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% แน่นอน นอกจากนี้ บริษัทฯ จะรักษาอัตรากำไรสุทธิในปีนี้ไว้ให้อยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อนที่ประมาณ 5.9% แม้ว่าจะมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น แต่จะเน้นบริหารจัดการต้นทุนด้านอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นต่างๆ ให้ลดจำนวนลง”
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ อยู่ในช่วงของการเจรจากับพันธมิตรเพื่อร่วมทุน และซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาประมาณ 2-3 ราย โดยอยู่ในกลุ่มธุรกิจบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้อย่างน้อย 1 แห่ง โดยขณะนี้พันธมิตรที่จะเข้ามาร่วมทุนบางรายอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์การเมืองในประเทศ