เวทีเสวนา “จำนำข้าว” ชี้โครงการฯ ถึงทางตัน “อัมมาร” มองปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญในอนาคต หากจะดำเนินโครงการประชานิยมในลักษณะก่อหนี้ท่วมหัว “ธีระชัย” ตอกฝาโลงรัฐบาลหมดสภาพ แนะให้ลาออก ชี้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องเร่งระบายข้าว 2 ล้านตัน แบบขายล็อตใหญ่ ไม่ใช่จีทูจี แบบปลอมๆ “อัจนา” ยอมรับการรับจำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดถือเป็นทฤษฎีที่ผิด ซึ่งวันนี้เราได้เห็นถึงปัญหาของโครงการที่ขาดสภาพคล่อง เกิดช่องทางทุจริต และขาดวินัยการคลังที่เสียลงไป นับตั้งแต่วันแรกที่มีการจำนำข้าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเสวนาหัวข้อ “ช่วยชาวนาอย่างไร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รักษาวินัยการเงินการคลัง” วันนี้ (11 ก.พ.) ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถชำระหนี้ให้ชาวนาได้ ส่วนภาระหนี้ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น และไม่ว่ารัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลต่อไปก็ต้องเข้ามารับผิดชอบ ส่วนประเด็นทางข้อกฎหมายว่าขณะนี้จะสามารถจ่ายเงินให้แก่ชาวนาโดยรัฐบาลหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้หรือไม่ ไม่สามารถให้ความชัดเจนได้เนื่องจากไม่ใช่นักกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญในอนาคตที่จะดำเนินโครงการประชานิยมลักษณะดังกล่าว ควรจะมีความชัดเจนว่าโครงการที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดหนี้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งควรนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรว่าจะดำเนินโครงการลักษณะที่ก่อหนี้จำนวนมากเพื่อให้สภาฯ รับทราบ
ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงโครงการประชานิยมที่ผ่านมามีหลายโครงการดี เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่โครงการเหล่านี้มีการใช้งบประจำที่รัฐบาลจะดำเนินการขอจัดสรร แต่โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้มาดำเนินการ ซึ่งควรกำหนดกรอบการสร้างหนี้ที่ชัดเจนกว่าขณะนี้
ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวขณะนี้ค่อนข้างถึงทางตัน เนื่องจากการที่รัฐบาลจะไปหาเงินกู้จากสถาบันการเงินจ่ายให้แก่ชาวนานั้น สถาบันการเงินก็ไม่สามารถพิจารณาปล่อยกู้ได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง
ขณะเดียวกัน การที่ให้โรงสีเข้ามาช่วยแบกรับภาระ โดยให้ชาวนานำใบประทวนมาขอสภาพคล่องสัดส่วนร้อยละ 50 และต้องมีการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่โรงสีในอนาคต ปัญหาดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายก็ไม่มีกฎหมายรองรับที่จะดำเนินการได้ ขณะเดียวกัน การที่จะนำสต๊อกข้าวไปค้ำประกันหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาจ่ายชาวนา สภาพปัจจุบันก็ไม่มีใครทราบว่า สต๊อกข้าวเป็นอย่างไร ทำให้การที่จะหาเงินมาชำระหนี้ชาวนาค่อนข้างติดขัดหลายด้าน
ขณะเดียวกัน การที่จะนำสต๊อกข้าวที่มีอยู่ไปหาแหล่งเงินกู้ก็ไม่มีใครทราบถึงสภาพของสต๊อกข้าวที่มีอยู่ ทำให้การหาเงินมาช่วยเหลือติดขัดหลายด้าน โดยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ รัฐบาลต้องระบายข้าวเดือนละ 2 ล้านตัน เป็นการขายข้าวแบบล็อตใหญ่ และไม่ใช่การขายข้าวแบบจีทูจี ปลอมๆ จะต้องมีการสำรวจแบบละเอียด หากข้าวเสื่อมคุณภาพก็ต้องยอมรับความจริง หากข้าวหายไปก็ต้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขายข้าวแบบล็อตใหญ่ จะทำให้ลดค่าดำเนินการลง หรือคืนข้าวให้แก่ชาวนาแต่ต้องคืนให้ 1.5 เท่า เพื่อให้ชาวนาไปดำเนินการค้าขายเอง และรัฐบาลรักษาการควรลาออก เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารงาน
ด้านนางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การรับจำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดถือเป็นทฤษฎีที่ผิด ซึ่งวันนี้เราได้เห็นถึงปัญหาของโครงการที่ขาดสภาพคล่อง เกิดช่องทางทุจริต และขาดวินัยการคลังที่เสียลงนับตั้งแต่วันแรกที่มีการจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด และเมื่อยิ่งฝืนต่อ ก่อให้เกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น
พร้อมกันนี้ นางอัจนา ระบุว่า การดำเนินนโยบายช่วยเหลือชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว หรือ โครงการประชานิยมต่างๆ ควรจะมีกรอบการบริหารที่ชัดเจนจากการอนุมัติของฝ่ายบริหาร ควรเข้าสู่ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายนิติบัญญัติ เปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือเงินอุดหนุน ดำเนินการให้อยู่ในรูปแบบของกฎหมายผ่านกระบวนการของสภา เพื่อให้สภารับทราบ แม้จะมีกระบวนการทางการเมือง หรือกลุ่มผลการเมืองเข้ามาเกี่ยว แต่มองว่าจะเกิดผลดีกว่าฝ่ายบริหารที่อนุมัติงบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภาระหนี้ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต