ชี้ทางรอดธุรกิจรับสร้างบ้านปี 57 การรวมกลุ่มธุรกิจเป็นสมาคมฯ ช่วยเพิ่มขนาดของธุรกิจให้กว้างขึ้น ขยายตลาดสู่ต่างจังหวัด ยกระดับคุณภาพสร้างบ้านให้ได้มาตรฐาน การใช้ระบบพรีแฟบมารองรับการก่อสร้าง เชื่อในอนาคตลูกค้ารับได้ เหตุต้นทุนพุ่ง หมดหวังได้เห็นค่าแรงราคาถูก เผยข้อมูลสมาชิกกว่า 40 บริษัท ฟันธงตลาดรับสร้างบ้านใน กทม. และปริมณฑลลดฮวบ 20-30% ตลาดต่างจังหวัดดีมานด์กลับพุ่ง ด้าน ผอ.สถาบันการก่อสร้างฯ คาดปี 57 มูลค่าลงทุนภาคการก่อสร้างโตอีก 20% จากปีนี้ คาดมีมูลค่าลงทุน 1 ล้านล้านบาท ตัวแปรหลักบิ๊กโปรเจกต์ของภาครัฐ
“สมาคมไทยรับสร้างบ้าน” ซึ่งเป็นสมาคมที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้าน ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้จัดสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2556 ในหัวข้อ “ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย’57 @Change Market: Change Building” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจรับสร้างบ้าน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อนำไปสู่การเตรียมพร้อม และปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีจะมีการเปลี่ยนแปลงในปี 2557 ที่จะถึงนี้
การเมือง-ศก.ตัวแปรกระทบธุรกิจรับสร้างบ้าน
นายสุธี เกตุสิริ กรรมการบริษัท บิวท์ ทู บิวด์ จำกัด และ บางกอก เฮ้าส์ บิวเดอร์ จำกัด กล่าวถึงปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า คิดว่าทุกคนมีความรู้สึกเหมือนกัน ซึ่งกระทบทุกย่อมหญ้า และนอกจากการเมืองแล้ว ยังต้องมองเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ วัสดุก่อสร้างที่ผลักดันให้ต้นทุนสูงขึ้น และกระทบไปถึงผู้บริโภคที่จะตัดสินใจสร้างบ้าน โดยจะเห็นได้ว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาบ้านขึ้นไป 25-30% จากปกติจะขึ้นปีละ 5-10% ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนผลักดัน (Cost Put ) มากกว่าความต้องการ ตรงนี้เป็นปัญหา
“มีปัจจัยลบที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ วิกฤตแรงงาน ซึ่งโดยภาพรวมของงานก่อสร้างในปี 57 นั้น จริงๆ ไม่ได้ลดลง แต่เป็นผลพวงจากปี 56 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยอดสร้างบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่ำลงกว่า 20-30% แต่ในต่างจังหวัดเพิ่มเยอะ ดีมานด์ใช้ได้เลย ที่เป็นเช่นนี้ต้องมองเรื่องของแรงงานเป็นองค์ประกอบ เนื่องจากตลาดแรงงานมีการปรับเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แรงงานขาดแคลนเยอะมากๆ ตั้งแต่เกิดน้ำท่วม ค่าแรง 300 บาท ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานอยากอยู่ในภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเอง มีการเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ค่าแรงขยับสูงขึ้นไปกว่า 20% ยังไม่นับรวมปัจจัยอนาคตที่ธุรกิจรับสร้างบ้านต้องเตรียมตัวเตรียมใจ และปรับตัวให้ทัน ซึ่งได้แก่ เมกะโปรเจกต์ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นงบ 2 ล้านล้านบาท งบโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการเปิด AEC”
“พีดีเฮ้าส์” วอนรัฐบาลต้องฟังเสียง ปชช.
นายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ กล่าวว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่ออารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค และประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ปักหลักดำเนินธุรกิจอยู่เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หายไป สำหรับภาคธุรกิจรับสร้างบ้านก็เช่นกัน ยอมรับว่าผู้บริโภคที่มีแนวโน้มจะสร้างบ้านในช่วงปลายปีนี้ เริ่มส่งสัญญาณที่จะชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปก่อน เพื่อรอให้สถานการณ์ทางการเมืองสงบ หรือยุติความวุ่นวายก่อน
สำหรับศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ นั้นมีสาขาให้บริการอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในทุกภูมิภาคเกือบ 40 สาขา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ผู้บริโภคยังมีความต้องการสร้างบ้านเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อพิจารณาดูแล้วก็สะท้อนได้ว่า ปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองนั้นส่งผลกระทบในวงจำกัดเฉพาะผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในพื้นที่ตลาดกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของประเทศ แต่มิได้หมายความว่ากรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย หากผู้ประกอบการในภาคธุรกิจอสังหาฯ และรับสร้างบ้านที่มีการปรับตัวด้วยการขยายการทำตลาดออกไปยังภูมิภาคก่อนหน้านี้ จึงเท่ากับว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง และได้รับผลกระทบไม่มากนัก”
“บรรยากาศความวุ่นวายที่เกิดขึ้นตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนที่ภาคธุรกิจเอือมระอามากพอแล้ว จึงไม่อยากเห็นภาพบรรยากาศแบบเดิมๆ ย้อนกลับมาอีก ขอวอนทุกฝ่ายใช้การเจรจาอย่างสันติ และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงอย่างเด็ดขาด
นายพิศาล ธรรมวิเศษ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดีเฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังเริ่มมีผู้รับเหมาช่วง และแรงงานคนไทยทยอยกลับเข้ามาทำงานกับบริษัทมากขึ้น ซึ่งจากผลดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรก ทำยอดขายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท เติบโต 30% โดยตั้งเป้ายอดขายเฉพาะไตรมาส 4 ไว้ที่ 400 ล้านบาท และคาดว่าปี 2556 จะเกินเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1,400 ล้านบาท
รวมกลุ่มสมาคมฯ เพิ่มอำนาจต่อรอง
นายสุธี กล่าวต่อว่า ธรรมชาติของธุรกิจรับสร้างบ้าน เป็นธุรกิจบริการที่มีการแนะนำบอกต่อจากลูกค้า ไม่ใช่ธุรกิจโฆษณา และในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลได้มาก และกว้างไกล ลูกค้ายอมจ่ายเพิ่ม แต่ต้องการคุณภาพและบริการ ดังนั้น ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านต้องตอบให้ได้ว่า เงินที่ลูกค้าจ่ายเพิ่มแล้วจะได้อะไร อย่างไร
“ถ้างานก่อสร้างดี ก็กินยาว ลูกค้าต้องการของใหม่ ไม่ใช่ว่าเดี๋ยวจะซ่อมให้ ตรงนี้ลูกค้าได้ฟังแล้วปวดใจ ดังนั้น เรื่องการบอกต่อเป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจจะต้องลงทุนตรงนี้”
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง การผลักดัน และรวมกลุ่มเป็นสมาคมฯ จะช่วยให้บริษัทรับสร้างบ้านขนาดเล็กสามารถเพิ่มขนาดของธุรกิจ และตลาดให้กว้างขึ้น เพื่อสามารถต่อสู้ได้ ซึ่งการก่อตั้งสมาคมไทยรับสร้างบ้านของนายกสมาคมฯ คนปัจจุบัน ต้องถือว่าเป็นความกล้าหาญที่จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มขึ้นมา เพื่อให้สมาชิกได้ใช้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลและช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มโอกาสให้แก่สมาชิกในต่างจังหวัด ได้นำเสนอบริการ และผลิตภัณฑ์ในแต่ละภูมิภาค เป็นการยกระดับมาตรฐานของการสร้างบ้าน ซึ่งมูลค่าตลาดรับเหมารายย่อยในต่างจังหวัดมีมากถึงแสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าในธุรกิจรับสร้างบ้าน ก็มีส่วนแบ่งตลาดดีขึ้นเพิ่มเป็นหมื่นล้านบาท
ระบบฟรีแฟบทางเลือกที่ต้องเกิดขึ้น
ท่ามกลางภาวะของต้นทุนที่สูงขึ้น บวกกับปัญหาค่าแรงแล้ว เชื่อมั่นได้เลยว่า 3-5 ปี ระบบผนังสำเร็จรูป (ฟรีแฟบ) จะเข้ามามีบทบาทในตลาดรับสร้างบ้านมากขึ้น ถึงตอนนั้นผู้บริโภคจะต้องรับและเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสร้างบ้านราคาถูก คงหนีไม่พ้นการใช้ระบบฟรีแฟบ เพราะคนซื้่อไม่มีทางเลือก สุดท้ายก็ต้องยอม ตลาดรับสร้างบ้านราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท คงเห็นได้น้อยมากๆ
“ในอนาคตคิดว่าการสร้างบ้านต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคเข้าใจมากขึ้น แต่ในปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่า การใช้ฟรีแฟบในการสร้างบ้านมีไม่มาก เนื่องจากเรื่องคุณภาพ เท่าที่ทราบมีบริษัทรับสร้างบ้านที่ใช้ระบบฟรีแฟบไม่เกิน 5 รายเท่านั้น”
มูลค่าลงทุนภาคก่อสร้างปี 57 โตอีก 20%
นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย (CIT) กล่าวถึงภาพรวมของมูลค่าลงทุนในภาคการก่อสร้างปีหน้าว่า หากรวมงบเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลแล้ว คาดว่าตัวเลขจะมีการเติบโตอีก 20% จากในปี 56 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 55 ที่มีมูลค่า 9.27 แสนล้านบาท