“นามยง เทอร์มินัล” สรุปราคาเสนอขายหุ้นให้ประชาชนหุ้นละ 11.90 บาท หลังใช้วิธีสำรวจความต้องการซื้อ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบันทั้งไทย และต่างประเทศ พร้อมเปิดจองระหว่าง 13-15 พฤศจิกายนนี้ ก่อนเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันที่ 25 พฤศจิกายน เซ็นสัญญาแต่งตั้ง บล.ทิสโก้ เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ด้าน บล.ทิสโก้ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และลีดอันเดอร์ไรเตอร์มั่นใจกระแสตอบรับดี ขณะที่ผู้บริหารชี้แนวโน้มธุรกิจสดใสตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีพิธีลงนามในสัญญาแต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ รวมทั้งแต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 6 ราย ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒน
สิน จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)
นายธนะชัย บัณฑิตวรภูมิ หัวหน้าสายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจากทิสโก้ได้ทำการสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของนักลงทุนสถาบันทั้งไทย และต่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมีช่วงราคาเสนอขายที่ 11.50-11.90 บาท/หุ้น ปรากฏว่า นักลงทุนสถาบันได้แสดงความต้องการซื้อหุ้นที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 11.90 บาท อย่างล้นหลาม โดยมีความต้องการซื้อหุ้นรวมคิดเป็น 13 เท่าของจำนวนหุ้นที่จะจัดสรรให้แก่นักลงทุนสถาบัน
ดังนั้น ทิสโก้ และบริษัทฯ จึงได้กำหนดราคาหุ้นที่จะเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในราคาหุ้นละ 11.90 บาท โดยจะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน และคาดว่าจะเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทยในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ บล.ทิสโก้ มั่นใจว่า หุ้น IPO ของ บมจ.นามยง เทอร์มินัล จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนทั่วไป เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อการส่งออก และนำเข้ารถยนต์ (Roll-on/Roll-off: Ro/Ro) แบบครบวงจร ณ ท่าเทียบเรือ A5 ในท่าเรือแหลมฉบัง โดยเป็นผู้ให้บริการ รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่า 80% และยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกต่างพุ่งเป้ามายังประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตหลักของรถยนต์เพื่อการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้แนวโน้มปริมาณการส่งออกรถยนต์ผ่านท่าเทียบเรือ A5 ของบริษัทฯ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากท่าเทียบเรือ A5 แล้ว บมจ.นามยง เทอร์มินัล ยังร่วมกับกลุ่มบริษัท NYK ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นและเป็นผู้ให้บริการขนส่งทางทะเลชั้นนำของโลก เข้าลงทุนในบริษัท แหลมฉบัง อินเตอร์เนชั่นแนล โร-โร เทอร์มินัล จำกัด หรือ LRT ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือเพื่อการส่งออก และนำเข้ารถยนต์ และสินค้าทั่วไป ณ ท่าเทียบเรือ C0 ท่าเรือแหลมฉบัง โดยบริษัทฯ ถือหุ้น LRT ในสัดส่วนร้อยละ 20 และมีสิทธิ (Option) ที่จะซื้อหุ้น LRT เพิ่มเติมจาก NYK ได้อีกไม่เกินร้อยละ 29 รวมเป็นสัดส่วนการถือหุ้นสูงสุดร้อยละ 49
สำหรับการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ บมจ.นามยง เทอร์มินัล จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งสิ้น จำนวน 205.50 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 33.15 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 620 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท เป็นทุนที่ออกจำหน่าย และชำระแล้ว 414.50 ล้านบาท
ด้านนายเทพรักษ์ เหลืองสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นามยง เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงมาก เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของเอเชีย ประกอบกับไทยมีความพร้อมด้านแรงงานที่มีฝีมือในการประกอบรถยนต์ และมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เลือกไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อการส่งออก
ทั้งนี้ จากแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2555-2559 ที่จัดทำโดยสถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม คาดว่าปริมาณรถยนต์ที่ผลิตจากผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายรวมกันจะเพิ่มเป็น 3 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2558 จากปัจจุบันที่ผลิตอยู่ที่ประมาณ 2.5 ล้านคัน ซึ่งในภาวะปกติแล้ว ความต้องการรถยนต์ภายในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสน ถึง 1 ล้านคันต่อปี ในขณะที่รถยนต์ที่ผลิตขึ้นเกินกว่าความต้องการภายในประเทศจะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้น การส่งออกรถยนต์ของไทยจึงยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมากในอนาคต ซึ่งก็จะส่งผลดีโดยตรงต่อธุรกิจ และผลประกอบการของบริษัทฯ ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือหลักในการส่งออกรถยนต์ประเทศ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดกว่าร้อยละ 80 โดยมีจำนวนรถยนต์ผ่านท่า A5 ของบริษัทฯ เมื่อปี 2555 มากถึงประมาณ 9 แสนคัน
“ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่จากทั่วโลกให้ความสนใจเข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยเพิ่มส่งออกมากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อม และศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังเติบโตได้อีกมาก ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลังไป 10 ปีพบว่า ปริมาณการส่งออกยานยนต์ของไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 17.8 ต่อปี โดยคาดว่าปริมาณยอดส่งออกรถยนต์ของไทยจะยังคงรักษาอัตราการเติบโตดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ไทยจะส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดโลกประมาณ 1.5 ล้านคัน รั้งอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจของนามยง เทอร์มินัล” นายเทพรักษ์กล่าว